Get Adobe Flash player

เมนูหลัก

            วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 08.30 พระธรรมปาโมกข์ ประธานกรรมการคณะกรรมการฝ่ายจัดการฝึกอบรมภาคศึกษาดูงานและนมัสการสังเวชนียสถานในประเทศอินเดีย-เนปาล สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) บรรยายพิเศษให้กับพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ณ สถาบันฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพมหานคร

            พระธรรมปาโมกข์บรรยายสรุปได้ว่า “ในการเดินทางไปอินเดียมีวัตถุประสงค์สำคัญอย่างหนึ่งเพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศได้สัมผัสกับสถานที่เกี่ยวข้องพระพุทธเจ้าตามที่มีปรากฎในพุทธประวัติที่ท่านทั้งหลายต้องผ่านการศึกษามาตั้งแต่การเรียนนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท เอก บางท่านยังนึกภาพไม่ออกว่าสถานที่เหล่านั้นมีอยู่จริงหรือไม่ หรือว่าเป็นเพียงการคาดคะเนของพระอรรถกถาจารย์ที่รจนาคัมภีร์ขึ้นในภายหลัง  อย่างน้อยในการเดินทางไปฝึกอบรมจิตภาวนาในสถานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยประทับ เคยแสดงธรรมแก่พุทธสาวก

 

            เมื่อได้สัมผัสกับสถานที่จริงในประวัติศาสตร์จะได้ปลูกศรัทธาความเลื่อมใสให้มั่นคงมากยิ่งขึ้น พระอรหันตสาวกทั้งหลายในอดีตได้ทุ่มเททั้งพลังกายและพลังใจเพื่อการก่อตั้งพระพุทธศาสนาและเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ปรากฎในนานานอารยประเทศ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป้นพระธรรมทูตจึงต้องมีการสืบทอดเจตนารมย์ของพระมหาเถระเหล่านั้น สมณทูตที่เดินทางออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศก็ได้ทำงานหนักมากกว่า เพราะบางแห่งพูดกันไม่รู้เรื่อง บางแห่งมีลัทธิความเชื่อที่สืบต่อกันมายาวนาน
            อีกประการหนึ่งเป็นการสานสัมพันธไมตรีอันดีงามระหว่างเจ้าหน้าที่จากประเทศไทยและประเทศอินเดีย  การสร้างสัมพันธภาพในทางการทูตจะเป็นการเพิ่มพันธมิตรในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ซึ่งปัจจุบันพระพุทธศาสนากำลังได้รับการฟื้นฟูให้กลับคืนสู่มาตุภูมิอีกครั้ง

 

            ขอให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจงตั้งใจในการศึกษา ปฏิบัติตามกฎ กติกาที่ทางสำนักฝึกอบรมได้วางเอาไว้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้เข้ารับการฝึกอบรม จงปฏิบัติตนให้อยู่ในทางแห่งความเจริญ อย่าปฏิบัติตนในทางเสื่อมซึ่งพระพุทธเจ้าแสดงทางแห่งความเสื่อมไว้หกประการ คือ “นอนตื่นสาย  เกียจคร้าน ดุร้าย ผัดเพี้ยนวันเวลา เดินทางไกลคนเดียว ส้องเสพภรรยาคนอื่น” ใครไม่เชื่อก็ลองนำไปปฏิบัติดูเอาเอง  บางอย่างก็ต้องวิเคราะห์ตีความให้ดี เช่นคนที่ทำงานตอนกลางคืนอาจจะนอนตื่นสายได้บ้าง ส่วนข้ออื่นๆชัดเจนอยู่แล้ว
            พระธรรมทูตจะต้องทำตัวให้เป็นผู้สงบเสงี่ยม ไม่คิดปองร้ายใคร ทำตัวเหมือนพระสารีบุตรที่บอกว่า “จงเป็นผู้มีใจเสมอด้วยแผ่นดิน มีใจเสมอด้วยไฟ มีใจเสมอด้วยลม มีใจเสมอด้วยผ้าเช็ดธุลี มีใจเสมอด้วยกุมารหรือกุมาริกา และมีใจเสมอด้วยโคเขาขาด”  ซึ่งมีแสดงไว้ในวุฏฐิสูตร อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต (23/215/390) มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โคเขาขาด สงบเสงี่ยม ได้รับฝึกดีแล้ว ศึกษาดีแล้ว เดินไปตามถนนหนทาง ตามตรอกเล็กซอกน้อย ก็ไม่เอาเท้าหรือเขากระทบอะไรๆ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยโคเขาขาด อันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปหนึ่งในพระธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริกไปเป็นแน่”

            มีคำอธิบายโดยสังเขปว่า “มีใจเสมอด้วยแผ่นดิน” มีคำอธิบายว่า “ชนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้างลงบนแผ่นดิน แผ่นดินก็ไม่อึดอัดระอาหรือเกลียดชังด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยแผ่นดินอันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
            คำว่า “มีใจเสมอด้วยน้ำ” มีคำอธิบายว่า “ ชนทั้งหลายย่อมล้างของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ลงในน้ำ น้ำก็ไม่อึดอัดระอาหรือเกลียดชังด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยน้ำอันไพบูลย์กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
            คำว่า “มีใจเสมอด้วยไฟ” มีคำอธิบายว่า “ไฟย่อมเผาของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ไฟย่อมไม่อึดอัดระอาหรือเกลียดชังด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยไฟอันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

            คำว่า “มีใจเสมอด้วยลม” มีคำอธิบายว่า  "ลมย่อมพัดซึ่งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ลมย่อมไม่อึดอัดระอาหรือเกลียดชังด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็เหมือนกันฉันนั้นแล มีใจเสมอด้วยลมอันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
            คำว่า “มีใจเสมอด้วยผ้าเช็ดธุลี” มีคำอธิบายว่า "ผ้าสำหรับเช็ดธุลี ย่อมชำระของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ผ้าเช็ดธุลีย่อมไม่อึดอัดระอาหรือเกลียดชังด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยผ้าสำหรับเช็ดธุลีอันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
            คำว่า “มีใจเสมอด้วยกุมารหรือกุมารี” มีคำอธิบายว่า "กุมารหรือกุมาริกาของคนจัณฑาลถือตะกล้า นุ่งผ้าเก่าๆ เข้าไปยังบ้านหรือนิคม ย่อมตั้งจิตนอบน้อมเข้าไป แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยกุมารหรือกุมาริกาของคนจัณฑาล อันไพบูลย์กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

            คำว่า “มีใจเสมอด้วยโคเขาขาด” มีคำอธิบายว่า "โคเขาขาด สงบเสงี่ยม ได้รับฝึกดีแล้ว ศึกษาดีแล้ว เดินไปตามถนนหนทาง ตามตรอกเล็กซอกน้อย ก็ไม่เอาเท้าหรือเขากระทบอะไรๆ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยโคเขาขาด อันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปหนึ่งในพระธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริกไปเป็นแน่”
            พระธรรมทูตทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศจะต้องพบกับสภาวการณ์ต่างที่อยู่เหนือการคาดคะเน จึงต้องฝึกให้มีคุณสมบัติประจำตนไว้คือ “จงเป็นผู้มีใจหนักแน่นเสมอด้วยแผ่นดิน มีใจเสมอด้วยไฟ  มีใจเสมอด้วยลม มีใจเสมอด้วยผ้าเช็ดธุลี  มีใจเสมอด้วยกุมารหรือกุมาริกา และมีใจเสมอด้วยโคเขาขาด” หากทำได้อย่างนี้จะอยู่ที่ไหนในโลกก็อยู่อย่างมีภูมิป้องกันตัวเอง

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
รายงาน

Copyright © ๒๕๕๙ สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) กรุงเทพมหานคร