พระธรรมทูตคือใครทำไมต้องไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ บางประเทศแทบจะไม่เคยรู้จักพระพุทธศาสนามาก่อนเลย บางประเทศเคยได้ยิน แต่ไม่รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวพุทธ บางประเทศเคยนับถือพระพุทธศาสนามาก่อนแต่ภายหลังได้ถูกลืมเลือนไป จนอนุชนคนรุ่นหลังรู้จักเพียงว่าบรรพบุรุษเคยเป็นชาวพุทธ แต่ปฏิบัติตนอย่างไรนั้นตอบไม่ได้
พระพุทธดำรัสในวันที่ส่งพระพุทธสาวกหกสิบองค์ออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในยุคแรกความว่า “จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ มา เกน เทฺว อคมิตฺถ เทเสถ ภิกฺขเว ธมฺมํ อาทิกลุยาณฺ มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ เกวลปริปุณฺรํ ปริสุทฺธี๊ พฺรหมฺจริยํ ปกาเสถ” (วิ มหา. ๔/๓๒/๓๙)
“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวจาริก เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ พวกเธออย่าได้ไปร่วมทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ ครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์”
นี่คือพุทธนโยบาย ในการส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนาเป็นครั้งแรกของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า หลังจากได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระสาวกผู้ไปปฏิบัติหน้าที่นี้ ในกาลต่อมาเรียกว่า “พระศาสนทูต” “พระสมณทูต” หรือ “พระธรรมทูต” ซึ่งหมายถึงผู้ทำหน้าที่จาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ต่าง ๆ ทั้งใกล้และไกล ทั้งในและต่างประเทศ
เนื่องจากว่า “ศาสนา” เป็นระบบความเชื่อที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในสังคม สังคมจำต้องมีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และเป็นสื่อช่วยประสานคนในสังคมเข้าด้วยกัน ศาสนาจึงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในสังคม อิทธิพลของศาสนาจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการวางรากฐานทั้งทางด้านจารีต ประเพณี และวัฒนธรรมของสังคม รวมทั้งเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตและวิธีคิดของผู้คนในสังคม ให้รู้จักเสริมสร้างชีวิตอย่างมีสาระและมีค่าสูงสุดตามบทบัญญัติและจุดหมายของศาสนาที่ตนนับถือ
พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประเภทอเทวนิยม (ATHEISM) ซึ่งเกิดจากความพากเพียรพยายามของมนุษย์คือ พระพุทธเจ้า ที่สได้ทรงศึกษาค้นคว้าสัจธรรมเพื่อแก้ปัญหาชีวิตทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวม จนประสบผลสำเร็จและได้ทรงนำสิ่งที่ค้นพบออกเผยแผ่แก่ชาวโลก กระท่ะงประดิษฐานและเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง
การประดิษฐานและเผยแผ่พระพุทธศาสนาในยุดแรก ได้อาศัยบทบาทของพระพุทธเจ้า และพระสาวกร่วมสมัยพุทธกาล โดยวิธีการต่าง ๆ แต่มีจุดหมายในการเผยแพร่เช่นเดียวกัน คือดำเนินตามพุทธนโยบายดังได้กล่าวข้างต้น
แม้พระพุทธเจ้า ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระสาวกทั้งหลายก็ได้ดำเนินตามพุทธปฏิปทาอย่างต่อเนื่อง ทั้งโดยส่วนตัวและเป็นหมู่คณะโดยเฉพาะ ในรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๘) มีการส่งพระธรรมทูตไปประกาศพุทธศาสนา ๙ สาย คือ
๑. พระมัชฌิมติกเถระ ไปแคว้นแคชเมียร์ และคันธาระ (บริเวณแคว้นแคชเมียร์ ในปัจจุบัน)
๒. พระมหาเทวเถระ ไปมหิสสกมณฑล (ทางทิศใต้ของแม่น้ำโคธาวารี ได้แก่ ไมซอร์ ในปัจจุบัน)
๓. พระรักขิตเถระ ไปวนวาสีประเทศ (เขตกะนะระ เมืองมุมไบ (MUMBAI=BOMBAY) ในปัจจุบัน
๔. พระโยนกธัมมรักขิตเถระ ไปอปรันตชนบท (อยู่ริมฝั่งทะเลอาระเบียน ทิศเหนือของเมืองมุมไบ)
๕. พระมหาธัมมรักขิตเถระ ไปมหารัฎฐประเทศ (รัฐอันธรประเทศ ในปัจจุบัน)
๖. พระมหารักขิตเถระ ไปโยนกประเทศ (เขตแดนบากเตรียน ในเปอร์เซีย ปัจจุบัน)
๗. พระมัชฌิมเถระ ไปหิมวันตประเทศ (ประเทศเนปาล ปัจจุบัน)
๘. พระโสณเถระ และพระอุตตระเถระ ไปสุวรรณภูมิ (บริเวณไทย และพม่า ในปัจจุบัน)
๙. พระมหินทเถระ ไปลังกา (ประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน)
นี้แสดงให้เห็นว่าพระธรรมทูตในชมพูทวีปเริ่มมีบทบาทเป็นรูปธรรมที่เด่นชัด ในการไปประกาศพระพุทธศาสนานอกเหนือดินแดนในชมพูทวีป จึงถือว่าเป็นพระธรรมทูตรุ่นบุกเบิก ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างแดน
จากการที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งพระธรรมทูตไปประกาศพระศาสนาในดินแดนต่าง ๆ ทำให้โลกได้รับมรดกทางวิญญาณอันล้ำค่ายิ่ง โดยเฉพาะสายพระโสณเถระและพระอุตตรเถระ ผู้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติความเป็นพระธรรมทูต ทั้งด้านสมถะและวิปัสสนา ได้เดินทางมายังสุวรรณภูมิ ได้แก่ ประเทศไทยปัจจุบัน มีเมืองนครปฐมเป็นประจักษ์พยานคราวครั้งยังเป็นอาณาจักรทวาราวดีกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศไทยนับแต่ยุคนั้น ตกราว พ.ศ. ๓๐๐ และมีการสืบสานพระพุทธศาสนาเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน
“พระธรรมทูต” ในความหมายภาพกว้าง ได้แก่ผู้นำธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าไปสู่ประชาชน ทั้งใกล้และไกล ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาจเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ก็ได้ นอกจากนี้ยังมีคำว่า “พระธรรมกถึก” “พระธรรมจาริก” ที่สามารถใช้ในความหมายทำนองเดียวกันกับ “พระศาสนทูต” “พระสมณทูต” หรือ “พระธรรมทูต” ดังระบุไว้เบื้องต้น
อันที่จริง พระสงฆ์ที่ได้รับการบวชทุกรูป ถือว่าทำหน้าที่พระธรรมทูตด้วยกันทั้งนั้น เพราะพระสงฆ์ คือหมู่ชนที่ได้รับฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วไปเผยแผ่แก่ประชาชน แต่เพื่อให้การบริหารงานและการจัดการงานพระศาสนา มีความรัดกุดและสนับสนุนพระธรรมวินัยมากขึ้น คณะสงฆ์ไทยจึงมีกฎเกณฑ์วางแนวปฏิบัติในความเป็นพระธรรมทูตไว้เฉพาะกล่าวคือ พระธรรมทูตในประเทศไทย มี ๒ ประเภท คือ พระธรรมทูตสายในประเทศ และพระธรรมทูตสายต่างประเทศ
เพื่อไม่ให้ตีความหมายไปไปไกลและมีมุมมองเกินบริบทในสังคมไทยปัจจุบันตามที่ผู้เขียนตั้งใจใคร่ ขออนุญาตให้คำจำกัดความหัวข้อที่ตั้งไว้ข้างต้นก่อน
คำว่า “พระธรรมทูตไทยในต่างแดน” ในที่นี้ หมายถึง พระสงฆ์ไทยสายเถรวาทผู้ไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศ โดยการรับรองจากมหาเถรสมาคมอันเป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์สูงสุดในประเทศไทยเท่านั้น และเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ขอขมวดลงในพระธรรมทูตในต่างแดนยุดโลกาภิวัตน์ หรือยุดปัจจุบันนี้และเนื่องจากผู้เขียนเป็นกรรมการและเลขานุการสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) โดยมีเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เป็นประธานสำนักฝึกอบรมฯ เนื้อหาสาระที่เขียนครั้งนี้ อาจไม่ครอบคลุมทุกฝ่ายนัก
ในอดีตพระธรรมทูตประเทศไทย แม้จะมีการเจริญศาสนสัมพันธ์กับต่างประเทศ เช่น ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็ตาม แต่ทว่ายังอยู่ในขอบเขตจำกัด เป็นความจำกัดด้านพาหนะเดินทางและสภาพแวดล้อมของผู้คนในประเทศนั้น ๆ อีกทั้ง ยังมิได้มีการฝึกอบรมเพื่อเตรียมความเป็นพระธรรมทูตเป็นกิจจะลักษณะ เพียงแต่ตรวจคุณสมบัติพระเถระนุเถระที่เหมาะสมและจัดส่งไป กาลเวลาที่ผ่านมา พระสงฆ์มีจำนวนมากขึ้น โอกาสไปมาติดต่อระหว่างประเทศมีสูงขึ้น พร้อมกันนี้ รัฐบาลไทยมีโครงการสนับสนุนส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนายังต่างแดน จะเห็นได้จากรัฐบาล โดย ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไปสร้างวัดไทยพุทธคยา ใกล้สถูปพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นแห่งแรก ตามคำเชิญของรัฐบาลอินเดีย ฯพณฯ ยาวฮะราลห์ เนรูห์ คราวฉลอง ๒๕ ศตวรรษ ครั้งต่อมา รัฐบาลไทยได้อุปถัมภ์อย่างเป็นทางการให้สร้างพุทธประทีป ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นแห่งที่สอง ซึ่งประบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดวัดนี้ เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๐๘ ดังนั้น คณะสงฆ์ไทยจึงมีโครงการฝึกอบรมพระธรรมทูตเพื่อเตรียมความพร้อมและจัดส่งพระธรรมทูตไปต่างประเทศสนองภาระงานดังกล่าว
โครงการฝึกอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศได้จัดขึ้นร่วมกันทั้งสองนิกายในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๙ – ๒๕๑๐ และได้หยุดลงด้วยเหตุปัจจัยจำเป็นบางประการ แต่ความต้องการพระธรรมทูตไปต่างประเทศกลับเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเริ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ แล้วมีการตั้งวัดเป็นบ้านเล็ก ๆ หลังหนึ่ง เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๑๔ ต่อมาวัดไทยเริ่มมีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะ เมืองใหญ่ ๆ เช่น นิวยอร์ก วอชิงตัน ดีซี ชิคาโก ลอสแองเจลลิส
เมื่อพระสงฆ์ไทยไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่างแดนมากขึ้น แต่ทว่าการจัดฝึกอบรมได้ชะงักลงไปแล้ว มหาเถรสมาคมภายใต้การสนับสนุนของกรมการศาสนา จึงให้มีการรื้อฟื้นโครงการนี้ขึ้นมาใหม่ มอบให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระสงฆ์มหานิกาย และสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร) กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย พระมหาเถระทั้งสองได้มอบภาระงานนี้ แก่มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยและมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยโดยลำดับเป็นหน่วยงานดำเนินการ กรมการศาสนาสนับสนุนงบประมาณจำนวนแห่งละสองแสนกว่าบาทในการดำเนินการโครงการนี้ จึงเริ่มมีการฝึกอบรมเป็นรูปธรรมอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ จนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์ใกล้เคียงกันในการดำเนินงานคือ
๑. เพื่อฝึกอบรมพระธรรมทูตให้มีความรู้ความสามารถ จริยาวัตรอันงดงาม และความมั่นใจในการปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศยิ่งขึ้น
๒. เพื่อเตรียมพระธรรมทูต ผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมส่งไปต่างประเทศ
๓. เพื่อสนองงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศของคณะสงฆ์ไทย
นับว่าการดำเนินงานของสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ทั้งสองต่างได้ทำหน้าที่ของตนอย่างน่าชมเชย เราไม่เคยได้ยินการล้ำเส้นของกันและกัน กลับได้เห็นความสมัครสมานสามัคคีเมื่อมีกิจกรรมทางศาสนาที่สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลได้นี่ แสดงให้เห็นว่าพระธรรมทูตไทยในต่างแดนมีใจกว้างมองภาพรวมมากกว่าภาพแคบ ถ้าจะไม่ชมเชยเห็นทีจะไม่ได้
อันที่จริงแล้ว โครงการบัณฑิตศึกษา ทั้งของมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร.) และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ที่เปิดโอกาสให้พระภิกษุ เข้ามาศึกษาในระดับปริญญาโท ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๓๑ นั้นก็คืองานสืบสาน โครงการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศของคณะสงฆ์ไทยนั่นเอง แต่เป็นการศึกษาในรูปหลักสูตรศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (ศน.ม.) และหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต (พธ.ม.) โดยเฉพาะหลักสูตร ศาสนศาสตรมหาบัณฑิตของ มมร. มีสาขาวิชา พุทธศาสนนิเทศ (BUDDHIST MISSION PROCESS) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า BUDDHISH STUDIES (พุทธศาสน์ศึกษา) มีจุดประสงค์ให้ผู้สำเร็จการศึกษาไปเป็นพระธรรมทูตในต่างประเทศ แต่ทว่ามิได้มีการส่งผู้สำเร็จการศึกษาออกไป เพราะขาดการประสานงานระหว่างมหาวิทยาลัยกับองค์กรปกครองคณะสงฆ์ไทย ทำให้ไม่มีการพัฒนารูปแบบการฝึกอบรมและการส่งพระธรรมทูตอย่างเป็นรูปธรรม จนเป็นเหตุให้มหาเถรสมาคมมีมติให้ดำเนินการฝึกอบรมพระธรรมทูตอีกวาระหนึ่ง นับแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๓๘ เป็นต้นมา
กรณีปัญหาและอุปสรรคของพระธรรมทูตไทยในต่างแดน ที่ได้ประสบพบเจอกับล้วนเป็นเรื่องท้าทายสติปัญญาและจริยวัตรของพระธรรมทูตยิ่งนัก จะขอนำมากล่าวโดยสังเขป
ความคิดและปฏิกิริยาของชาวต่างชาติ ต่อพระธรรมทูตไทย : เมื่อพระสงฆ์ไทยไปเมืองนอกในระยะแรก ๆ เช่นประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าของถิ่นหรือที่เราเรียกเขาว่า “ฝรั่ง” แทบไม่เคยเห็น พระสงฆ์ไทย เพราะจำนวนพระมีน้อย บางคนเคยมา เมืองไทย ก็พอจะคุ้น ๆ ตา เรียกความทรงจำมาได้บ้าง แต่ชาวต่างประเทศส่วนมากเมื่อเห็นพระก็นึกแปลกใจ และมองแบบมีคำถามบนหน้าผาก พระกลายเป็นบุคคลแปลกประหลาด บางทีขับรถผ่านมา ชะเง้อมองและร้องว่า “หริกฤษณะ” เพราะเขาเคยเห็นพวกหริ-กฤษณะ นักบวชฮันดูที่มาเผยแพร่สมาธิและแนวคิดความเชื่อของเขา ประสบความสำเร็จพอสมควร มีฝรั่งหนุ่มสาวหันมานับถือ และอยู่ร่วมชุมชนหริ-กฤษณะ มีชีวิตแบบนักบวชโกนหัวแต่ไว้ผมเปียยาว ๆ นุ่งห่มโธตีสีส้ม ใช้สีแดง ขาว ทาหน้าเป็นริ้ว มือถือกลองแขก ปากร้องร่ำ ๆว่า “หเร รามา หเร รามา” พระสงฆ์เราจึงนับเนื่อง “สาธุ” (นักบวช) ประเภทนี้ในสายตาของชาวต่างชาติ
พอภาพยนตร์จีนกำลังภายใน ได้รับความนิยมทั่วโลก ฝรั่งทั้งในอเมริกาและยุโรปรู้จักสำนักเส้าหลินและกังฟูเป็นอย่างดี พาน้อมในไปว่า พระสงฆ์ไทยคือนักบวชกังฟูแห่งวัดเส้าหลิน พวกเด็ก ๆ ต่างชาติพอเห็นพระสงฆ์ไทยมักเข้ามาอ้อนวอนให้สอนท่า “ไอ้ลิงหมัดเมา” บ้าง “ตั๊กแตนพิฆาต” บ้าง พอหลวงพี่ทำทีท่ายอแข้งยกขาเข้าหน่อย พวกเด็ก ๆ ก็ถอยกรูดไปตาม ๆ กัน เกรงว่าลูกหลงจาก “ไอ้หมัดเมา” จะมากระทบร่างพวกเขาเข้า...พอถึงยุดนี้พระทิเบตดูจะมีชื่อเสียง เนื่องจากองค์ทะไลลามะ มีบทบาทต่อสังคมโลก พระสงฆ์ไทยก็พลอยถูกเรียกว่า “ลามะ” ไปบ้าง
นอกจากนี้ พระธรรมทูตไทยในต่างแดนยุคแรก ๆ มักประสบปัญหาจากชาวท้องถิ่น คำถามแรก ๆ มักจะได้ยินว่า คุณเป็นใคร ? มาจากไหน ? มาเพื่ออะไร ? และการที่จะสร้างวัดก็เป็นเรื่องต้องทำความเข้าใจกับเจ้าถิ่นให้ถ่องแท้ เช่น พระธรรมทูตในยุคบุกเบิกรูปหนึ่ง ท่านเล่าให้ฟังอย่างน่าจับใจว่า
“.....การไปซื้อวัด ฝรั่งจะตั้งคำถามไว้เลยว่า ท่านมาซื้อวัดเพื่อต้องการเอาคนของเขาเข้าศาสนาพุทธใช่ไหม ผมตอบว่าไม่ใช่ เรามีคนที่นับถือพุทธศาสนาอยู่แล้ว เรามาบำรุงศรัทธา ศาสนิกชนของเราและมาช่วยชาวพุทธให้เป็นพลเมืองดีในประเทศของคุณ แต่ถ้าหากพลเมืองประเทศของคุณต้องการจะศึกษาพระพุทธศาสนาในเชิงเปรียบเทียบ หรือศึกษาวัฒนธรรม ประเพณีตะวันออกเช่นประเทศไทย เรายินดีช่วยเหลือ”
กาลเวลาต่อมา พอพระธรรมทูตลงหลักปักฐานได้แล้ว ก็เผชิญกับปัญหาที่ท้าทายขึ้นไปอีกดังเช่น สนฺติกโร ภิกฺขุ (ท่านโรเบิร์ต) พระภิกษุเถรวาท ชาวอเมริกันได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับสังคมอเมริกันมองพระธรรมทูตไทยว่า
“ชาวอเมริกัน ถ้าอยากศึกษาธรรมะ ไม่นึกถึงวัด ถ้าจะพูดหนัก ๆ ไม่นึกถึงวัดไทยด้วยซ้ำ เพราะถ้ามองว่า วัดไทยเป็นสถานที่เพื่อคนไทยจะไปประกอบพิธี พิธีอะไรก็ไม่รู้ ฝรั่งดูไม่เข้าใจ แต่เห็นคนไทยไปกันฝรั่งก็ไปดู เห็นว่าคนไทยใจดี ชอบสนุก ก็ไปดูกับเขา เขามักจะนึกถึงศูนย์หรือธรรมสถานที่ฆราวาสส่วนใหญ่เป็นฝรั่งจัดตั้งและดำเนินการเอง เพราะเขาเห็นว่าพระคร่ำครึและเป็นศักดินา”
สภาพอุปสรรคและปัญหาในต่างแดน มีให้พระธรรมทูตได้ทดสอบอยู่เสมอ อยู่แต่ว่า บารมีแห่งปัญหานั้น ๆ ไปได้หรือเปล่าเท่านั้นเอง
กรณีศึกษาพระธรรมทูตในบางประเทศ
พระธรรมทูตไทยประเทศอินโดนีเซีย ก่อนอื่นต้องขอชมเชยก่อนว่า ชาวพุทธที่มาร่วมพิธีในวัดที่อินโดนีเซียนั้น ไม่เหมือนกับชาวพุทธประเทศอื่น ๆ คือ ชาวพุทธเกือบจะทั้งหมดที่เข้าวัดนั้น เป็นคนอินโดนีเซีย นับว่า เป็นผลงานของพระธรรมทูตไทย รุ่นบุกเบิก ที่เข้าไปวางรากฐานไว้อย่างมั่นคง แม้จะลำบากยากเย็นในระยะแรกก็ตาม กล่าวกันว่าการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างแดนจะมั่นคงได้ ก็ต่อเมื่อมีกุลบุตรในดินแดนเจ้าของถิ่นนั้น ๆ ได้เข้ามาบรรพชาอุปสมบท เป็นหน่อเนื้อพุทธางกูร ดังที่ท่านพระมหินทเถระได้ปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่าง คราวครั้งไปประกาศพระศาสนาดินแดนลังกา ประกาศพระศาสนาในประเทศศรีลังกา จึงเป็นที่เลื่องลืมตราบกาลบัดนี้
แต่ปัญหาการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่อินโดนีเซีย มีระหองระแหงอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการวางระบบการปกครองคณะสงฆ์เถรวาทอินโดนีเซีย การมีภิกษุณีฝ่ายเถรวาท จากการที่อุบาสิกาสี่ท่านไปบวชภิกษุณีที่ไต้หวันและไปทำการญัตติที่ลังกาและล่าสุด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ มีการบวชสามเณร ภาคฤดูร้อน ปรากฏว่า มีเด็กอิสลามหนีพ่อแม่มาบวช จึงเป็นห่วงความไม่เข้าใจกันระหว่างศาสนิกของแต่ละศาสนา
ณ ประเทศไต้หวัน เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าเป็นดินแดนพระพุทธศาสนามหายาน การเข้าไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาเถรวาทจึงเป็นเรื่องยาก แต่เมื่อประมาณสิบปีผ่านมา พระไชยยศ ชยยโส พาคณะเดินธรรมจาริกรอบเกาะไต้หวัน จึงเป็นโอกาสให้ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาเถรวาท มีการประสานงานร่วมมือกับพระสงฆ์มหายานบ้าง และมีการสร้างวัดในที่สุด ชื่อวัดไทยพุทธธรรม คนไทยที่ไปทำงานก็หลั่งไหลเข้ามาวัดเป็นจำนวนมาก และชาวไต้หวันเอง ที่มีความสนใจพระพุทธศาสนาเถรวาทในมุมมองหนึ่ง ก็มาร่วมสนับสนุนกิจการของวัดอย่างไม่ขาดสาย
วัดไทยในไต้หวันนี้ มีบทบาทกับคนไทยสูงมาก คนไทยที่ไปไต้หวันส่วนใหญ่เป็นแรงงานมีการศึกษาน้อยมาก และมาจากภาคอีสานจบการศึกษาแค่ ป. ๖ หรือ ม. ๓ ทางวัดไทยพุทธธรรมจำต้องเปิดศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนให้คนไทยได้ปรับวุฒิการศึกษาและใช้เวลาไปในทางสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ มิฉะนั้น จะพากันไปแหล่งอบายมุข เช่น คาราโอเกะ ดื่มสุรา เล่นการพนันล้วนเป็นเหตุให้ไม่มีส่งเงินกลับมาบ้านเกิดเมืองนอนทั้งสิ้น นอกจากนี้ทางวัดยังเป็นศูนย์ช่วยเหลือโดยตั้งเป็นศูนย์พิทักษ์แรงงานไทย ในกรณีมีปัญหาเกิดกับแรงงานไทยอีกด้วย
สภาพชุมชนและวัดไทยในต่างแดน ;
สังคมไทยเป็นสังคมเปิดเผย ไม่เป็นสังคมปิดเหมือนชาวตะวันตก คนไทยจึงเป็นคนรักเพื่อนพ้อง มีความเอื้อเฟื้อเยื่อใยไมตรี จึงเป็นที่มาของภาษิตยอดฮิตของนายทหารบางคนว่า “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” แต่อย่างไรก็ตาม ลิ้นกับฟันอดที่จะกระทบกันไม่ได้ จึงไม่แปลกที่คนไทยในต่างแดนมีความระหองระแหงกันบ้าง นินทาซุบซิบกันบ้า ทะเลาะวิวาทกันบ้าง
คนไทยที่ไปต่างแดน บ้างก็ไปทำธุรกิจ บ้างท่องเที่ยวบ้าง ไปเรียนบ้าง ไปทำงานประเภทต่าง ๆ บ้าง หรือไม่ก็ได้รับการชักชวนหรือการขอร้องจากญาติมิตรที่อยู่ต่างแดนบ้าง
เมื่อจากถิ่นฐานบ้านช่องอย่างนี้ คนไทยในต่างแดนเกิดอาการว้าเหว่ ต้องการที่พึ่งทางจิตใจ บางคนมีปัญหาเรื่องความผิดหวังในความรักบ้าง การเรียนบ้าง การเป็นอยู่บ้าง คิดถึงบ้านบ้าง ไม่มีความอบอุ่นเหมือนอยู่ในเมืองไทยเรา ที่สำคัญคนไทยเป็นคนมีศาสนา มีพระพุทธศาสนาฝังแน่นในมโนวิญญาณ เพราะคนมีศาสนาจะเป็นคนรู้จักและเกรงกลัวต่อบาปบุญคุณโทษ ส่วนคนไม่มีศาสนา มักจะไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ หลงใหลในวัย มัวเมาในความประมาท แต่คนบ้าศาสนาเป็นอันตรายกว่าคนไม่มีศาสนา เพราะจะมุทะลุ บ้าบิ่น และทำอะไรก็ได้ ขาดสติยั้งคิด เห็นชีวิตศาสนิกอื่นเป็นผักปลา
แม้จะไม่ได้กล่าวถึงสภาพการณ์ทุกแห่งที่พระธรรมทูตไทยไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งในอเมริกา ยุโรป เอเชีย หรือออสเตรเลีย กล่าวคือพระธรรมทูตสายมหานิกายไปสร้างวัดในต่างแดนจำนวน ๑๑๐ วัด และพระธรรมทูตสายธรรมยุตินิกาย จำนวน ๖๘ วัด (รายละเอียดอยู่แผ่นหลังของบทความนี้) แต่มักจะประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน จึงนำภาพรวมมากล่าวแต่เพียงเท่านี้
กิจกรรมของวัดโดยภาพรวม :
พระธรรมทูตไทยในต่างแดน ดำเนินวิถีชีวิตเช่นเดียวกับพระสงฆ์ไทย แต่มีความเฉพาะกิจในบางเรื่อง เช่น สภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น อาจทำให้สภาพความเป็นอยู่แตกต่างจากพระสงฆ์ที่อยู่เมืองไทยไปบ้าง แต่นั้นไม่ใช่เป็นเรื่องหนักหนาสาหัสประการใด อย่างไรก็ตาม ลองดูภาพกิจกรรมของวัดไทยในต่างแดนโดยศึกษาจากงานการปกครอง การศึกษาการเผยแผ่ สาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์
๑) ด้านการปกครอง : อาศัยพระธรรมวินัยเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติ ตามด้วยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ไทย กฎระเบียบของมหาเถรสมาคมที่พระสงฆ์ไทยแม้จะอยู่ในหรือนอกประเทศต้องปฏิบัติตาม นอกจากนี้ ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศนั้น ๆ อันไม่ขัดต่อพระธรรมวินัยอีกด้วย
๒) ด้านการศึกษา : พระธรรมทูตไทยในต่างประเทศ บางแห่งสามารถศึกษาความรู้ภาษาอังกฤษหรือภาษาท้องถิ่นนั้น ๆ ในระยะเวลาที่กำหนด (course) ได้ เพราะเป็นประโยชน์และสำคัญยิ่งในการเผยแผ่หลักธรรมได้อย่างสนิทแนบแน่น และกว้างขวางภายในแต่ละวัดส่วนมากมีการจัดการศึกษาพระพุทธศาสนาสำหรับประชาชนทั่วไป ในรูปแบบธรรมศึกษาชั้นตรี - โท - เอก บ้าง หลักสูตรพระพุทธศาสนาเฉพาะกิจบ้าง รวมถึงการสอนดนตรีไทย และภาษาไทย เป็นการอนุเคราะห์และส่งเสริมให้เด็กไทยที่เกิดและเจริญเติบโตในต่างแดนให้มีความรู้ความเข้าใจถิ่นกำเนิดและวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ
๓) ด้านการเผยแผ่ : พระธรรมทูตไทยดำเนินกิจวัตรประจำวัน เช่น ทำวัตรเช้า - เย็น นั่งสมาธิ บิณฑบาต (ในบริเวณวัด) ฉันภัตตาหาร กรณียกิจอย่างนี้เป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยนำวิถีชีวิตที่เรียบง่าย และมีความสงบเป็นตัวอย่างให้เห็น นอกจากนี้ ยังมีการเผยแผ่ที่เป็นรูปธรรมอย่างอื่น เช่น
๓.๑) จัดให้มีการอบรมสมาธิภาวนา บวชเนกขัมมะ ทำบุญรักษาศีล เป็นกรณีพิเศษในวันสำคัญ ๆ เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ และวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
๓.๒) แจกหรือให้ยืมเทปธรรมะ หนังสือธรรมะหรือจุลสารประจำวัดแด่ผู้สนใจ เพื่อเป็นธรรมทาน
๓.๓) นิมนต์พระสงฆ์ผู้ทรงความรู้ด้านปริยัติหรือปฏิบัติมาบรรยายธรรม และอบรมกรรมฐาน
๓.๔) สนทนาธรรมและอธิบายเรื่องพระพุทธศาสนาแก่ชาวต่างชาติ ผู้สนใจทั้งในและนอกวัด
๓.๕) จัดห้องสมุดพระพุทธศาสนาเพื่อผู้สนใจมาศึกษาและค้นคว้าภายในวัด
๓.๖) มีการเผยแผ่พุทธธรรมผ่านทางเว็บไซต์ (website) และเป็นที่น่ายินดีว่า คณะสงฆ์ไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา กำลังระดมผู้มีความรู้ความสามารถหลาย ๆ ด้าน เตรียมการทำระบบเครือข่าย (home page)ใน การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นของส่วนกลาง มีคณะกรรมการบริหาร เพื่อให้การเผยแผ่มีประสิทธิภาพและเอกภาพยิ่งขึ้น
๓.๗) มีการตอบปัญหาธรรมทางอีเมล (e-mail)
๔) ด้านสาธารณูปการ : มีการก่อนสร้างอุโบสถ อาคารอเนกประสงค์ ศาลา กุฎิ และพัฒนาบริเวณวัดให้สะอาดร่มรื่น เอื้อประโยชน์แก่ชาวพุทธศาสนิกชนและผู้สนใจเข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรมหาความสงบทางกายและใจ อีกทั้งเป็นสถานที่ทำพิธีกรรมทางศาสนาตามขนบธรรมเนียมประเพณี
๕) ด้านสาธารณสงเคราะห์ : ให้การช่วยเหลือสิ่งของจำเป็นแก่ครอบครัวคนไทยผู้ประสบภัยและความลำบาก ให้เป็นที่พกอาศัยชั่วคราวแก่คำนำแก่ครอบครัวผู้ประสบเคราะห์กรรมของวัดทั่วไปแล้ว ต้องเตรียมตัวและเตรียมใจให้พร้อมสรรพ กล่าวคือ
เตรียมตัว : พระธรรมทูตไทยไปปฏิบัติศาสนกิจต่างแดน ต้องสนองความต้องการทางวัฒนธรรมของชุมชนไทยในประเทศนั้นๆ เนื่องจากคนไทยอยู่รวมกลุ่มเป็นจำนวนมาก มีความเดียวดายและต้องการที่พึ่งยึดเหนี่ยว อีกทั้งเพื่อสนองความต้องการของชุมชนหรือสังคมท้องถิ่น เพื่อนำพุทธธรรมไปเปิดเผยให้เขาได้สัมผัส และโน้มน้าวพฤติกรรมที่เวียนไปสู่ความหายนะของประชากรในประเทศนั้น ๆ ให้กลับสู่ความหายนะของประชากรในประเทศนั้น ๆ ให้กลับสู่สภาพที่เป็นปกติสุข เช่นสหรัฐอเมริกา หนุ่มสาวฆ่าตัวตายเพิ่ม ๓๐ % ในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา นี่เป็นสถิติของสภาสุขภาพจิตแห่งชาติอเมริกา
เตรียมใจ : พระธรรมทูตต้องมีคุณสมบัติ เพื่อความเป็นพระธรรมทูตที่ดี ที่ประเสริฐ คือ
๑) มั่นใจในคุณค่า ความดีงาม ความประเสริฐของพระพุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นพระธรรมทูตไปเผยแผ่ พระพุทธศาสนาในต่างประเทศนั้น จะต้องมีความมั่นใจว่า เรามีสิ่งที่ดีแท้ เป็นสิ่งที่ดีแท้ เป็นสิ่งที่ประเสริฐและเป็นประโยชน์ที่จะมอบให้เขา
๒) รู้เข้าใจปัญหา และความต้องการของถิ่นฐานที่ไป ต้องรู้ภูมิหลังของเขาว่า เขามีวิธีคิดและวิถีชีวิตอย่างไร เช่น อเมริกา เป็นประเทศที่เจริญ ถ้าเราไม่รู้เท่าทัน ก็จะหวั่นเกรง ต้องทราบว่า เขาเจริญทางด้านวัตถุมาก แต่ในขณะเดียวกันดูเหมือนว่า อยู่ในภาวะเสื่อมโทรมอย่างยิ่งทางด้านจิตใจของคนในสังคม มีปัญหาเกิดจากความเจริญทางวัตถุที่ปรากฏตัวเป็นระลอก ๆ นับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๓
๓) มีวิธีสื่อสารให้ได้ผล เนื่องจากงานพระธรรมทูต คืองานนำพุทธธรรมไปให้เขา ซึ่งต้องสื่อให้เข้าใจ ทั้งหลักธรรมที่เหมาะสมกับบุคคลและเวลา และใช้สื่อภาษากับอุปกรณ์ต่าง ๆ
๔) มุ่งมั่นแน่วแน่ต่ออุดมการณ์ของพระพุทธศาสนา จุดหมายในการปฏิบัติหน้าที่ของพระธรรมทูตในพุทธศาสนาต้องแน่วแน่ด้วยอุดมการณ์ที่ว่า “จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย.....”
พระพุทธศาสนาคือพรหมจริยธรรม ที่พุทธสาวกช่วยกันดำรงรักษาศีลต่อให้ดำรงอยู่ยืนนาน เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่คนจำนวนมาก และเพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก บางศาสนา นักบวชของตนให้ไปทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนา โดยเปลี่ยนใจคนมานับถือพระเจ้า แต่ในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสอย่างนั้น พระองค์ตรัสให้ไปทำประโยชน์แก่เขา ไปช่วยให้เขาพ้นทุกข์ ประสบความสุข
ในขณะเดียวกัน พระธรรมทูตเองต้องพัฒนาตนเอง ควบคู่กับการทำงานเพื่อสังคมไปด้วยโดยการปฏิบัติตามไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ถ้าเราพัฒนาตนเองไม่มากเท่าไร เราก็จักทำประโยชน์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเพื่อประโยชน์แก่มหาชนมากเท่านั้น อย่าประมาททั้งในส่วนอัตตถะ และปรัตถะ....
บทส่งท้ายและบทวิเคราะห์
จากตัวเลขในหนังสือสถิติรายปี “ เอ็นไซ โคลพีเดีย บริแทนนิกา” (Encyclopedia Britannica) เล่นปี ๒๕๔๔ ระบุว่า
“ศาสนาคริสต์” มีผู้นับถืออันดับ ๑ จำนวน ๑,๙๗๔,๑๘๑,๐๐๐ คน
“ศาสนาอิสลาม” มีผู้นับถืออันดับ ๒ จำนวน ๑,๑๕๕,๑๐๙,๐๐๐ คน
“ศาสนาฮินดู” มีผู้นับถืออันดับ ๓ จำนวน ๗๙๙,๐๒๘,๐๐๐ คน
“ศาสนาพุทธ” มีผู้นับถืออันดับ ๔ จำนวน ๓๕๖,๒๗๐,๐๐๐ คน
“ศาสนาซิกข์” มีผู้นับถืออันดับ ๕ จำนวน ๒๒,๘๓๗,๐๐๐ คน
ที่น่าสังเกตจากสถิตินี้อีกอย่างหนึ่งคือจำนวนคนรุ่นใหม่ที่ประกาศตนว่า “เป็นคนไม่มีศาสนา” จำนวนถึง ๗๖๒,๖๔๐,๐๐๐ คน (จากจำนวนเพียง ๓ ล้านคนในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ : ค.ศ. ๑๙๐๐) นี่ไม่รวมถึงผู้ที่สังกัดศาสนา แต่ยังไม่ยอมรับทุกศาสนาอีกจำนวน ๑๐๐ กว่าล้านคน แนวโน้มความเสื่อมลงและความเจริญของแต่ละศาสนาในรอบศตวรรษที่ผ่านมาล้นอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วงด้วยกันทั้งนั้น แม้จะมีสถิติตัวเลขขึ้น ๆ ลง ๆ ของแต่ละศาสนาก็ตาม ทั้งนี้ อาจเกี่ยวกับปัญหาโยงใยกับบริบทในสังคมนั้น ๆ โดยเฉพาะความเจริญเติบโตทางเทคโนโลยี และเป็นยุคบริโภคนิยม จนทำให้เหินห่างหลักศาสนาออกไปได้ พระพุทธศาสนาก็คงจะหลีกหนีสภาวะดังกล่าวไปไม่พ้น แต่ยังดีขณะนี้ มีพระธรรมทูตไทยออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์และความมั่งคงทางจิตแก่สรรพสัตว์ทั่วโลก
ประเด็นต่อมาที่น่าศึกษาและวิเคราะห์เป็นอย่างยิ่ง นั่นคือ มักมีผู้ถามว่า “การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตไทยในต่างแดนประสบความสำเร็จหรือไม่”
สำหรับคำถามนี้ น่าจะมีคำตอบเป็น ๒ นัย คือ กลุ่มที่ตอบว่า ได้ผลมาก น่าพอใจ และกลุ่มที่ตอบว่า ได้ผลน้อย ไม่เท่าที่ควร
สำหรับผู้ที่ตอบว่า ได้ผลมาก มีเหตุผลว่า สังคมตะวันตกเจริญรุ่งเรืองทางวัตถุมาก เป็นความเจริญ มีวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรมเป็นพื้นฐาน ชาวตะวันตกจึงมีความเป็นอยู่สะดวกสบาย เพลิดเพลินกับสิ่งอำนวยคามสะดวกทางร่างกายนานาประการ แต่ทว่า ด้านจิตใจเต็มไปด้วยความวิจกกังวลและความเครียด เกิดความไม่สบายใจเป็นโรคประสาท โรคจิต และ โรคหัวใจมากขึ้น สังคมจึงร้อนรุ่มด้วยความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ จากการที่ชาวตะวันตกไม่สามารถหาทางออกในเรื่องนี้ได้ จึงหันมาศึกษาและปฏิบัติตามวิถีชีวิตชาวตะวันออก โดยมีฐานจากศาสนาและปรัชญาโดยเฉพาะพระพุทธศาสนา เราจะเห็นตัวอย่างชาวต่างชาติถึงกับมาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาและกลับไปตั้งวัดพระพุทธศาสนาในบ้านเมืองของตนก็มี นี่เป็นสาเหตุอย่างหนึ่ง ให้พระพุทธศาสนาฉายแสงแห่งความเจริญรุ่งเรืองในดินแดนแถบตะวันตก นี่ไม่รวมถึงนักศึกษา นักวิชาการที่สนใจพระพุทธศาสนา ผ่านกระบวนการทางรายวิชาในสถาบันหรือมหาวิทยาลัย และในขณะเดียวกันนี้ ชาวพุทธทั้งที่เป็นคนไทยและแถบประเทศเอเชียมีความแนบแน่นกับวัฒนธรรมเชิงพุทธ ปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาคือ ให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา จึงทำให้มีการขยายวัดไปเรื่อย ๆ นับเป็นโอกาสให้พระธรรมทูตไทยได้ฉลองศรัทธาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างไกลยิ่งขึ้น
เมื่อมองในแง่ลบ เพื่อเป็นกระจกสะท้อนให้มีการปรับและพัฒนาเพื่อความมีประสิทธิภาพและแพร่หลายยิ่งขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตไทย ยังอยู่ในเกณฑ์พอใช้ มีเหตุผลสนับสนุนว่า การที่วัดไทยขยายจำนวนมากนั้น บางแห่งบางวัดยังอยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วง ยังไม่มีความมั่นคงพอ อาจเป็นเพราะความสามัคคีทางศรัทธาของญาติโยมยังไม่ผนึกแน่น หรืออาจเป็นเพราะข้อขัดข้องทางกฎหมายของประเทศนั้น ๆ อีกทั้งไม่ได้เป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชาวต่างชาติอย่างเป็นรูปธรรมมากมายนัก ส่วนใหญ่เป็นการให้บริการทางวัฒนธรรมพุทธไทยแก่ชาวพุทธไทยหรือชาวพุทธเอเชียที่มาประกอบอาชีพในต่างแดน เมื่อว่าโดยภาพรวมแล้ว จึงมีผู้กล่าวว่า ผลงานของพระธรรมทูตยังไม่ได้ผลที่น่าพอใจนัก เพราะยังมีปัญหาและอุปสรรคของพระธรรมทูตผู้ไปปฏิบัติศาสนกิจยังต่างแดนที่ยังแก้ไม่ตก ๔ เรื่องด้วยกัน คือ ปัญหาเรื่องพระธรรมทูตขาดคุณภาพ ปัญหาการเน้นวัฒนธรรมไทยจนเดินไป ปัญหาถูกต่อต้านจากวงการศาสนาท้องถิ่น และปัญหาเรื่องสถานทางกฎหมายของวัดไทย
ผู้เขียนมีความเห็นด้วยทั้งสองมุมมอง แต่ในมุมมองฝ่ายลบเราสามารถแก้ไขและพัฒนาให้ดีขึ้นได้และขณะนี้ สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศทั้งของคณะสงฆ์มหานิกาย ได้ดำเนินการอยู่และคาดว่า จะมีการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับอย่างแน่นอน
ท้ายสุด ชอบใจข้อคิดของพระเดชพระคุณพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) ยิ่งนัก คราวตามที่ไปประชุมพระธรรมทูตไปต่างประเทศเนือง ๆ พระเดชพระคุณมักจะปรารภแก่พระธรรมทูตผู้อยู่ต่างแดนเสมอ ๆ ว่า
“ในอนาคตข้างหน้า การณ์พระพุทธศาสนาในเมืองไทยไม่แน่นอน เพราะปัจจุบัน สภาพแวดล้อมทั้งบุคคลและแนวคิดแนวปฏิบัติที่มีต่อพระพุทธศาสนาของคนไทยแล้ว น่าเป็นห่วงเหลือเกินอย่างไรเสีย ท่านทั้งหลายได้นำพระพุทธศาสนามายังดินแดนต่าง ๆ แล้ว ขอให้ตั้งใจทำหน้าที่ของพระธรรมทูตอย่างมีศักดิ์ มีศรี ท่านอาจจะเป็นบูรพาจารย์สงฆ์เถรวาทไทยที่มาสร้างประวัติศาสตร์ในการประกาศพระพุทธศาสนา ณ ดินแดนแห่งนี้ ขอให้คิดอยู่เสมอว่า ท่านกำลังบันทึกประวัติศาสตร์อันสำคัญยิ่งเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในประเทศนี้ด้วยตัวของพวกท่านเอง”
ที่มา: http://www.dpgb.mbu.ac.th/th/