Get Adobe Flash player

เมนูหลัก

การเดินทางไปประชุมคณะสงฆ์เถรวาทที่ประเทศอินโดนีเซียเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 สิ่งหนึ่งที่ได้รับรู้จากรายงานการประชุมคือความเป็นมาและสถานการณ์พระพุทธศาสนาในดินแดนแห่งประเทศมุสลิม ที่ไม่เหมือนกับที่เคยจินตนาการไว้ก่อนออกเดินทางที่คิดไม่ออกว่าพระพุทธศาสนาจะอยู่กันอย่างสันติกับศาสนาอิสลามได้อย่างไร ในประเทศไทยคนส่วนมากเป็นพุทธศาสนิกชน แต่ที่อินโดนีเซียพุทธศาสนิกชนเป็นคนกลุ่มน้อยอยู่ท่ามกลางศาสนาใหญ่ๆอีกหลายศาสนา 

 

เอกภาพบนความแตกต่าง

         ประเทศอินโดนีเซียมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล มีเกาะประมาณ 17,508  มีพื้นที่เป็นทะเลมากกว่าพื้นดิน มีประชากร 235 ล้านคน มากเป็นอันสี่ของโลก ข้อมูลทางศาสนาระบุว่าชาวอินโดนีเซียร้อยละ 87 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 10 นับถือศาสคริสต์ซึ่งแบ่งเป็นร้อยละ 6 นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ ร้อยละ 3.5 นับถือศาสนาคริสต์นิกายแคทอลิก ที่เหลืออีกร้อยละ 3 นับถือศาสนาฮินดูและพุทธ ซึ่งแบ่งสัดส่วนได้คือร้อยละ 1.8 นับถือศาสนาฮินดู และร้อยละ 1.3 นับถือศาสนาพุทธ (ศุภลักษณ์ สนธิชัย,อินโดนีเซีย,กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์อทิตตา,2549,หน้า 5) ข้อมูลอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่จากข้อมูลดังกล่าวหมายความว่ามีชาวพุทธไม่ถึงสิบล้านคน

         ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หนังสือประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาระบุว่า “ถึงแม้ว่าในปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียจะเป็นประเทศนับถือศาสนาอิสลาม แต่อดีตเคยมีพระพุทธศาสนาแบบมหายานเข้ามาประดิษฐานอยู่ พระพุทธศาสนาได้รุ่งเรืองมาก ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 มีโบราณสถานที่สำคัญสองแห่งอยู่ในอินโดนีเซียคือ โบโรบุดูร์ หรือ บรมพุทโธ ตั้งอยู่ที่ราบเกตุ (kedu)ในภาคกลางของชวา ห่างจากเมืองยอกยาการ์ตา (Jogjagata) ในปัจจุบันทางเหนือประมาณสี่สิบกิโลเมตร และพระวิหารเมนดุต (Mendut) ซึ่งอยู่ห่างจาก โบโรบุดูร์ไปทางทิศตะออกสามกิโลเมตร ต่อมาเมื่ออิสลามได้ขยายอำนาจครอบงำอินโดนนีเซียในปีพุทธศักราช 2012 ชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่จึงเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาขณะที่พระพุทธศาสนาตกอยู่ในภาวะเสื่อมโทรมตลอดระยะเวลาอันยาวนาน” 
         พระพุทธศาสนาในอินโดนีเซียมีส่วนผสมของฮินดูจนบางครั้งแยกกันไม่ออก ฮินดูและพุทธจึงอยู่ร่วมกันจนมีผู้มองว่า “ศาสนาพุทธแตกกิ่งก้านมาจากฮินดู แต่มีความอ่อนโยนและลึกซึ้งกว่า แผ่ขยายสู่จีนและผ่านทางการออกธุดงค์ของพระสงฆ์ ก่อนเข้าสู่ชวาและสุมาตรา โดยพื้นฐานแล้วศาสนาพถุทธแตกสาขามาจากฮินดูก็จริง แต่ละทิ้งแนวคิดเรื่องวรรณะเช่นเดียวกับความเชื่อในเรื่องเทพเจ้าหลายองค์ และเสนอแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตามหลักศีลธรรม  ชาวพุทธในอินโดนีเซียส่วนใหญ่เป็นคนจีน แม้จะเป็นพุทธที่ผสมผสานกับความเชื่อของบรรพบุรุษคือลัทธิเต๋าและขงจื้อ แต่คนจีนส่วนใหญ่ชอบบอกว่าตนเป็นคนพุทธ (ศิริพร โตกทองคำ,อินโดนีเซีย,กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์สู่โลกกว้าง,2549,หน้า 63)

         โบราณสถานโบราณวัตถุที่เกิดจากศรัทธาในพระพุทธศาสนาในอดีตยังคงหลงเหลือให้เห็นเป็นจำนวนมากดังที่เอลซา ไซนุดินได้บันทึกไว้ว่า “อาณาจักรต่างๆในชวาทิ้งโบราณวัตถุทั้งหลายอย่างหรูหราไว้เป็นอันมาก ในระหว่าง ค.ศ. 750 -850 มีการสร้างปูชนียสถานในพระพุทธศาสนาที่น่าประทับใจที่สุดในชวากลางคือเจดีย์บุโรพุทโธซึ่งยังคงอยู่มาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ เจดีย์บุโรพุทโธแสดงให้เห็นแบบการก่อสร้างที่แสดงความคิดทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับจักรวาล และตามภาพแกะสลักอันยาวเหยียดรอบระเบียงทั้งสี่ด้านก็เป็นภาพพุทธประวัติทั้งสิ้น (เอลซา ไชนุดิน(เพ็ชรี  สุมิตร แปล),ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย,กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย,2552,หน้า 59)
         หลักฐานของอิทธิพลพุทธ-ฮินดู นั้น เห็นอยู่ชัดเจนเพียงพอในอินโดนีเซียภาคต่างๆ ที่มีจารึกภาษาสันสกฤตที่อาจอ้างย้อนหลังไปได้ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 5 และได้มีการค้นพบโบราณสถานและประติมากรรมฮินดูจำนวนมากในบริเวณหมู่เกาะ แม้ว่าในอินเดียลัทธิฮินดูและพุทธศาสนาจะแบ่งแยกกันอย่างชัดเจน แต่ในอินโดยีเซียยากที่จะแบ่งแยกสิ่งเหล่านั้นออกจากกัน โดยเฉพาะสิ่งที่พวกเขายอมรับมักจะเป็นการผสมของปรัชญาฮินดูและพุทธซึ่งเข้ากับความเชื่อทางศาสนาเก่าๆ ที่มีอยู่ในอินโดนีเซียเวลานั้น  ลัทธิฮินดูนั้นเป็นระบบเกี่ยวกับราชสำนักโดยเฉพาะ รวมทั้งเน้นถึงเรื่องวรรณะและความสัมพันทางสังคมของชนชั้นต่างๆที่มีอยู่ระหว่างกัน และยังเน้นถึงบทบาทของกษัตริย์ที่มีสภาวะเช่นพระเจ้า ผู้ที่จะต้องมีความประพฤติที่ถูกต้องอันจะนำความปลอดภัยและความอุดมสมบูรณ์ให้แก่อาณาจักรของพระองค์

         อีกด้านหนึ่งพุทธศาสนามีลักษณะเป็นสถาบันน้อยกว่าและเป็นกันเองมากกว่า ทุกคนอาจบรรลุถึงความหลุดพ้นจากสิ่งทั้งหลายหรือนิพพานได้โดยไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่มีกำเนิดสูง แต่เกี่ยวข้องกับการทำสมาธิ อดอาหารและการปฏิบัติชอบ พุทธศาสนานิกายที่มายังอินโดนีเซียคือมหายานนั้นเน้นถึงการปฏิบัติชอบและการสร้างวัดตลอดจนอนุสาวรีย์ บุคคลที่บรรลุถึงความหลุดพ้นและอยู่ระหว่างที่จะบรรลุนิพพานอาจปฏิเสธรางวัลอันสูงสุดนี้เพื่อสิ่งอื่น คือเขาจะกลายเป็นจพระโพธิสัตว์พระพุทธเจ้าในระยะเริ่มแรกนี้เป็นผู้ที่คนเคารพนับถือ(ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย, หน้า 53)
         ในปี ค.ศ. 1814 (พ.ศ. 2357) เซอร์สแตมฟอร์ด แรฟเฟิลล์ (Sir Stamford Raffles) ส่งร้อยโทตอร์เนลิอัส (Lieutenant Cornelius) แห่งกองทัพอังกฤษไปสำรวจบริเวณที่เชื่อสืบกันมาว่าเป็นที่ตั้งของปูชนียสถานแต่โบราณ เขาได้พบซากปรักหักพังทั้งหลายและรายงานสิ่งที่เขาได้ค้นพบ และในระหว่างปี ค.ศ. 1907-1911  (พ.ศ. 2450-2454) คณะนักโบราณคดีชาวฮอลันดาเริ่มบูรณะปูชนียวัตถุเหล่านั้น นัยว่าในปี ค.ศ. 1896  (พ.ศ.2439) รัฐาบาลอาณานิคมของฮอลันดาถวายรูปสลักหินถึงแปดเล่มเกวียนให้แก่พระเจ้าแผ่นดินไทยเมื่อคราวที่เสด็จเยือนอินโดนีเซีย (ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย, หน้า 59)
         มหาเดีย์บูโรบูดูร์หรือบรมพุทโธเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงพลังศรัทธาของชาวพุทธ เป็นสัญญลักษณ์ที่แสดงถึงสาระสำคัญและจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา จนมีผู้อธิบายไว้ว่า “มีผู้มองบุโรพุทโธมิใช่เป็นเพียงตัวแทนของพุทธจักรวาลและเป็นทาง 10 ขั้นเพื่อบรรลุนิพพานอันสูงสุดเท่านั้น แต่ยังมีความผูกพันกับในอดีตกาล ดังนั้นบุโรพุทโธเองจึงมิใช่เป็นสถูปในความหมายดั้งเดิมคือเป็นสถานที่ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า แต่เป็นสถานที่บรรจุพระศพกษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทรที่ถวายพระเพลิงและฝังพระศพไว้บนพื้นฐานชั้นต้นๆของสิ่งก่อสร้างนี้ จึงเท่ากับผูกโยงปูขนียสถานในพระพุทธศาสนาไว้กับการบูชาบรรพบุรุษรุ่นเดิม และเจดีย์ยอดแหลมอันกว้างขวางแบบอินโดนีเซียแท้ๆ ในสมัยก่อนได้รับอิทธิพลฮินดูและพระพุทธศาสนา (ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย, หน้า 61)

         เจดีย์บุโรพุทโธสร้างเป็นรูปโดมใหญ่หรือเป็นสถูปรอบๆเขาเตี้ยๆ เป็นสัญลักษณ์ของจักรวาลดังที่สาวกของพระพุทธเจ้าแลเห็น ใต้ฐานเจดีย์เป็นรูปแกะสลักภาพนูนแสดงให้เห็นโลกของความใคร่และตัณหา คนดีจะได้รับรางวัลด้วยการไปเกิดใหม่ในชีวิตที่ดีกว่า และคนชั่วจะได้รับโทษไปเกิดใหม่ในที่ต่ำกว่า ที่แปลกก้คือผู้สร้างที่ได้แกะสลักภาพเหล่านี้แล้วกลับนำเอาก้อนหินไปปกปิดภาพเหล่านั้นเสีย 
         ตามระเบียงทั้งสี่ด้านที่อยู่สูงขึ้นไปจากชั้นนี้เป็นชั้นๆขึ้นไปแสดงให้เห็นโลกของรูปในแบบต่างๆ หากเราเดินเลี้ยวซ้ายจากบันไดกลางเราเดินรอบลานกว้างและด้านบนระเบียงที่ไม่มีหลังคา มีลูกกรงอยู่ทางซ้ายและมีจารึกคำสอนหลักอยู่บนฝาผนังด้านใน พร้อมด้วยภาพพุทธประวัติในระยะต่างๆ ที่ทรงแสวงหาทางตรัสรู้อีก 1300 ภาพประกอบอยู่  หลังจากเดินเป็นระยะทางสามไมล์แล้ว เราก็พ้นจากโลกของรูปต่างๆออกไปยังโลกที่ปราศจากรูป มีลานกลมกว้างไม่มีขอบเขตสามระดับ มีสถูปหินถึง 72 สถูปเรียงรายอยู่โดยรอบคือสถูปเล็กเรียงรายอยู่รอบสถูปใหญ่ที่ตั้งอยู่ตรงกลาง และเราจะมองผ่านหุบเขาที่เขียวชอุ่มไปยังเทือกเขาที่แวดล้อมเรียงเป็นวงอยู่รอบด้าน เป็นอาณาบริเวณที่น่าชมอย่างยิ่ง (ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย, หน้า 60)

         สถูปที่เล็กกว่านั้นบรรจุพระพุทธรูปไว้จำนวนมากและนักท่องเที่ยวมักได้รับเชิญให้เอามือลอดลูกกรงไปจับต้องพระหัตถ์หรือพระบาทพระพุทธรูปที่อยู่ภายใน ขณะที่มัคคุเทศก์ท่องบทสวดมนต์ที่เหมาะสมให้ฟัง สถูปองค์กลางที่ใหญ่กว่าก็แสดงให้เห็นนิพพานซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความว่างเปล่า
         มีโบราณสถานที่เล็กกว่าอยู่สองแห่งในบริเวณที่รวมกันอยู่นี้ จันติเมนดุต เป็นสถูปที่เชื่อกันว่าพระโพธิสัตว์ทั้งเก้า องค์ที่ปรากฎอยู่นั้นเป็นอดีตกษัตริย์ทั้งเก้าในราชวงศ์ไศเลนทร ซึ่งเมื่อย่างเข้าสู่สมัยที่ 10 ก็มีเรื่องยุ่งยากเกิดขึ้น และจันดี ปาวัน ก็เป็นสถานที่ที่เชื่อกันว่าใช้เผาบูชาเพื่อชำระตนให้บริสุทธิ์ก่อนจะเข้าไปในบริเวณบุโรพุทโธ เจดีย์ทั้งสามอยู่ไม่ห่างกันนัก ใกล้ๆกับเจดีย์เมนดุตปัจจุบันมีวัดของคณะสงฆ์เถรวาทอินโดนีเซีย เป็นที่จำพรรษาของพระสังฆปาโมกข์แห่งอินโดนีเซียคือพระศรี ปํญญาวโรมหาเถร 
         อิทธิพลของฮินดูยังมีปรากฎเป็นหลักฐานที่ชัดเจนแห่งหนึ่งคือจันดีพราหมณัน ซึ่งอยู่ห่างจากเจดีย์บุโรฐูดูร์ประมาณสี่สิบกิโลเมตร เจดีย์แห่งนี้สร้างขึ้นตามความเชื่อในเรื่องของรามยณะปัจจุบันมีให้เห็นอยุ่หกองค์ ภายในเจดีย์แต่ละองค์จะเป็นที่ประดิษฐานของเทพเจ้าตามความเชื่อของศาสนาฮินดู ภายในเจดีย์องค์หนึ่งมีภาพโคนอนนิ่งอยู่ภายใน 

         เกี่ยวกับชาวฮินดูนั้นมีระบุไว้ว่า “ชาวฮินดูอินโดนีเซียอยู่ในบาหลีเป็นส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 90ของชาวฮินดูทั้งประเทศ และมีพัฒนาการต่างไปจากฮินดูในอินเดีย สิ่งสำคัญของฮินดูบาหลีหรือ อะกามา ฮินดู ธรรมะ คือความเชื่อในสมดุลของพลังที่ตรงกันข้ามกันเช่นดีและชั่ว มืดและสว่าง ชายและหญิง บวกและลบ ระเบียบและวานวาย พลังทั้งสองอยู่ร่วมกันและมีพลังพอกัน (อินโดนีเซีย,หน้า 62) 
 

         พระพุทธศาสนาและฮินดูเจริญรุ่งเรืองควบคู่กันมาโดยตลอด  ในขณะที่ฮินดูยังคงอยู่ในสังคมอินโดนีเซียโดยเฉพาะมีอิทธิพลมากที่เกาะบาหลี ในขณะที่พระพุทธศาสนาได้เลือนหายไปจากสังคมเหลือไว้เพียงโบราณสถานต่างๆและเจติยะเล็กๆอีกเป็นจำนวนมาก
         คำว่า “เจติยะ”กับ “จันดี” ต่างกันอย่างไรนั้นได้สอบถามอุบาสิกาท่านหนึ่งที่วัดพุทธเมตตา จากาต้า ได้เล่าให้ฟังสั้นๆว่า “เจติยะเป็นสถานที่เล็กๆคล้ายๆกับศาลากลางบ้านใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมเช่นสวดมนต์ นั่งสมาธิสำหรับชาวพุทธในหมู่บ้านหนึ่งอาจมีเจติยะหลายแห่ง บางคนมีเจติยะประจำตระกูลก็มี ส่วนจันดีนั้นหมายถึงเจดียองค์ใหญ่ไม่ใช่ที่อยู่แต่เป็นศาสนสถาน ดังนั้นจันดีจึงมีขนาดใหญ่กว่าเจติยะเช่นจันดีบูโรบูดูร์ จันดีปะวอน จันดีเมนดุต จันดีพราหมณันเป็นต้น 
         ภายหลังจากที่พระพุทธศาสนาได้เลือนหายไปจากอินโดนีเซีย แต่ก็ยังมีชาวพุทธส่วนหนึ่งพยายามรักษาธรรมเนียมชาวพุทธโดยการสวดมนต์ตามเจติยะต่างๆซึ่งมีอยู่จำนวนมากทั่วประเทศ มีพระภิกษุสงฆ์จากศรีลังกา พม่า เดินทางเข้าไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาเพื่อให้ฟื้นฟึ้นมาอีกครั้ง  แต่ก็ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก 

         จนกระทั่งปีพุทธศักราช   2512 พระชินรักขิตหัวหน้าชาวพุทธในประเทศอินโดนีเซียขณะนั้น ได้เดินทางเข้ามาประเทศไทย และพักที่วัดบวรนิเวศวิหาร ได้มาทบทวนถึงเรื่องการขอให้คณะสงฆ์ไทยออกไปช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศอินโดนีเซียอีกครั้งหนึ่ง ดังที่ได้เคยปรารภไว้กับพระสาสนโสภณ (สุวฑฺฒนมหาเถร) เมื่อครั้งเยือนอินโดนีเซียครั้งแรก (พ.ศ. 2511) เป็นเหตุให้คณะสงฆ์ร่วมกับกรมการศาสนาในนามของรัฐบาลไทย ได้จัดส่งพระภิกษุผู้สำเร็จการฝึกอบรมจากสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศแล้วเป็นพระธรรมทูตออกไปช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินโดนีเซียชุดแรก 4 รูป คือ
         1. พระครูปลัดอรรถจริยานุกิจ (วิญญ์ วิชาโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์ที่พระราชวราจารย์ ปัจจุบันมรณภาพแล้ว
         2. พระครูปลัดสัมพิพัฒนวิริยาจารย์ (บุญเรือง ปุญฺญโชโต) วัดพระศรีมหาธาตุ ปัจจุบันคือพระธรรมเจติยาจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพฯ และกรรมการบริหารสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศและเจ้าคณะภาค 9 ธรรมยุต
         3. พระมหาประแทน เขททสฺสี วัดยานนาวา ไม่ทราบข้อมูลแน่ชัดว่าลาสิกขาหรือมรณภาพ
         4. พระมหาสุชีพ เขมาจาโร วัดระฆังโฆษิตาราม ไม่ทราบข้อมูลแน่ชัดว่าลาสิกขาหรือมรณภาพ
         พระธรรมทูตชุดนี้ออกเดินทางจากประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2512 นับเป็นพระธรรมทูตที่สำเร็จการฝึกอบรมจากสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศรุ่นแรก ที่ออก ไปปฏิบัติศาสนาในต่างประเทศ และประสบผลสำเร็จในการปฏิบัติศาสนกิจเป็นอย่างดียิ่ง (จากหนังสือ “พระศาสนกิจในต่างประเทศ” ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อครั้งที่ทรงสมณศักดิ์ที่ พระศาสนโศภณ พิมพ์เผยแพร่ใน “อนุสรณ์การบำเพ็ญกุศลอัฏฐิถวายพระราชวราจารย์ (วิญญ์  วิชาโน) อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศซิหาร และ หัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายประเทศอินโดนีเซีย (27-28 กันยายน 2549)  (หน้า 24)

         พระธรรมเจติยาจารย์พระธรรมทูตรุ่นแรกที่เดินทางมายังประเทศอินโดนีเซียได้เมตตาเล่าให้ผู้ร่วมเดินทางไปประชุมพระพุทธศาสนาที่อินโดนีเซียครั้งแรกในช่วงการเดินทางจากย็อกจากาตาร์ไปยังศูนย์สมาธิภันเตวิญญ์ ถึงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอินโดนีเซียในครั้งนั้นว่า “พอไปถึงอินโดนีเซียได้พักที่เจติยะเล็กๆแห่งหนึ่ง มีชาวพุทธมาสนทนาจำนวนมาก และชาวพุทธได้นิมนต์เพื่อให้ไปแสดงธรรมเทศนายังที่ต่างๆ ในพรรษาแรก ภันเตวิญญ์(พระราชวราจารย์)กับพระมหาสุชีพ ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาที่เจติยะ ส่วนผม(พระธรรมเจติยาจารย์)กับพระมหาประแทนได้เดินทางไปยังเมืองต่างๆเพื่อแสดงธรรม ในยุคแรกพูดได้เพียงภาษาอังกฤษ ต้องมีคนแปลเป็นภาษาอินโดนีเซียอีกทีหนึ่ง เรื่องที่เทศน์ก็เป็นเรื่องธรรมพื้นฐานเช่นการรักษาศีล บำเพ็ญสมาธิ และการบริจาคทาน คนที่ทำหน้าที่แปลส่วนมากมักจะเป็นข้าราชการซึ่งต้องทำงานตามเวลา หนักๆเข้าผมและพระมหาประแทนเลยต้องเริ่มเทศน์เป็นภาษาอินโดนีเซียซึ่งมีหลักไวยากรณ์คล้ายภาษาไทยมาก เมื่อได้ศัพท์ก็พูดได้”
         พอเข้าพรรษาที่สองก็ไม่ต้องใช้ล่ามแปลอีกต่อไป ชาวพุทธที่นี่รู้ตัวเพียงว่าตนเองเป็นพุทธแต่ไม่รู้ว่าศาสนาพุทธสอนอะไร มีหลักปฏิบัติอย่างไร แต่พอได้ฟังการแสดงธรรมจึงทำให้รู้และเข้าใจมากขึ้น การเทศน์นั้นบางครั้งต้องเดินทางไกลมากจากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่งบางครั้งใช้เวลาทั้งวัน
         การอุปสมบทพระภิกษุเถรวาทครั้งแรกในอินโดนีเซียนั้นมีข้อมูลจากหนังสือ “พระศาสนกิจในต่างประเทศ”ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อครั้งที่ทรงสมณศักดิ์ที่ พระศาสนโศภณ พิมพ์เผยแพร่ใน “อนุสรณ์การบำเพ็ญกุศลอัฏฐิถวายพระราชวราจารย์ (วิญญ์  วิชาโน) อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศซิหาร และ หัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายประเทศอินโดนีเซีย (27-28 กันยายน 2549) ระบุว่า “ครั้น พ.ศ. 2513 พระชินรักขิต ผู้นำชาวพุทธในประเทศอินโดนีเซียขณะนั้น ได้อาราธนา พระสาสนโสภณ พร้อมด้วยคณะ คือ พระธรรมโสภณ (สนธิ์ กิจฺจกาโร ภายหลังได้เป็นที่ พระญาณวโรดม) วัดบวรนิเวศวิหาร, พระขันติปาโล (ลอเรนส์ มิลล์) วัดบวรนิเวศวิหาร, ม.ล. สุเจต นพวงศ์ ไวยาวัจกร, ออกไปให้การบรรพชาอุปสมบทแก่กุลบบุตร ณ ประเทศอินโดนีเซีย พระสาสนโสภณและคณะได้ออกเดินทางจากประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2513

         พระชินรักขิตอุปสมบทในประเทศพม่า เมื่อ 17 ปีที่แล้ว และเมื่อกลับไปประเทศของตนแล้ว ได้พยายามก่อตั้งคณะสงฆ์และพุทธสมาคมของฝ่ายฆราวาสขึ้น ก่อนแต่นี้พระพุทธศาสนาในอินโดเนเซีย มีอยู่เฉพาะวัดพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ก็เป็นชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีน ชาวพื้นเมืองมีอยู่จำนวนไม่มากที่ประกาศตนเองว่าเป็นชาวพุทธ และที่เรียกตนเองว่าเป็นชาวพุทธเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้มีการศึกษาดี และได้เรียนรู้พระพุทธศาสนาผ่าน Theosophical Society หลังจากประเทศอินโดเนเซียได้รับอิรสะภาพ และในโอกาสฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ชาวอินโดนีเซียเริ่มมาสนใจพระพุทธศาสนามากขึ้น และเริ่มหันกลับมานับถือพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาดั้งเดิมของบรรพบุรุษของตน มีกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่าเป็นชาวพุทธอยู่ตามภูเขาแต่พวกเขาก็รู้เรื่องคำสอนของพระพุทธศาสนาเพียงเล็กน้อย และต่อมาเมื่อชาวอินโดนีเซียถูกบังคับให้นับถือศาสนาโดยรัฐบาล (ผู้ไม่นับถือศาสนาถือว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ ซึ่งถูกห้ามตามหลักการปฏิวัติใน พ.ศ. 2508) มีมุสลิมเพียงจำนวนน้อยประกาศตัวเองว่าเป็นชาวพุทธ 
 
         คณะของพระสาสนโสภณได้รับอาราธนานิมนต์มาให้การอุปสมบทแก่กุลบุตร 5 คน ซึ่งบรรพชาเป็นสามเณรอยู่แล้ว เป็นพระภิกษุ เพราะอินโดนีเซีย ไม่มีสงฆ์พอที่จะให้การอุปสมบทเองได้ พิธีอุปสมบทพระภิกษุเถรวาทครั้งแรกจัดขึ้นที่จันดีโบโรบุดูร์ ถึงแม้จะไม่มีลักษณะของอุโบสถ จึงได้จัดพิธีอุปสมบทกลางแจ้ง หลังจากปรึกษาหารือกันแล้วก็ลงความเห็นกันว่า จะใช้ลานเจดีย์เล็ก ๆ ที่อยู่ชั้นสูงสุดเป็นพระประธาน และลานเจดีย์ที่รองลงมาใช้สำหรับพระสงฆ์ประกอบสังฆกรรม เพราะประชาชนจะได้เห็นพิธีอุปสมบทได้อย่างสะดวก ส่วนการเลือกใช้ทางทิศตะวันออกนั้นก็เพราะช่วงบ่ายทิศนั้นจะมีร่มเงา ไม่ต้องตากแดดในระหว่างการประกอบพิธี เมื่อเดินดูโดยรอบแล้ว ก็กลับไปที่มุนตีลันเพื่อฉันเพล 
         หลังจากฉันเพลแล้ว ก็มีการเตรียมการอุปสมบท โดยตระเตรียมข้าวของต่าง ๆ เพื่อนำไปประกอบพิธี มีการตั้งพระพุทธรูป ภปร. หน้าตัก 5 นิ้ว รูปพระแก้วมรกต ดอกไม้ธูปเทียน แจกันทองเหลืองเป็นต้นซึ่งนำไปจากประเทศไทย มีการตั้งโต๊ะหมู่บูชาที่หน้าพระเจดีย์ใหญ่ เมื่อจัดสถานที่เรียบร้อยแล้ว พระสาสนโสภณได้ประพรมน้ำหอมโดยรอบในขณะที่พระสงฆ์รูปอื่นยืนพนมมือถวายสักการะ แล้วสามเณร 5 รูปที่จะรับอุปสมบทบูชาพระรัตนตรัย ด้วยการจุดธูปเทียนบูชา สามเณร 5 รูป ที่อุปสมบทคือ

         1. S. Jinasuryabhumi (U.P. Dhamapala Nirihuwa Bernardus เกิดวันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม 2447 อายุ 67 ได้รับฉายาว่า อคฺคชินมิตฺโต 
         2. S. Pandita Dhammasiha (Tan Hiap Kik) เกิดวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2461 อายุ 52 ได้รับฉายาว่า อุคฺคธมฺโม
         3. S. Dhammavijayo (Tjong Khouw Siw) เกิดวันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม 2478 อายุ 36 ได้รับฉายาว่า สิริวิชโย
         4. S. Dhammasushisyo เกิดวันวันอังคารที่ 3 กันยายน 2486 อายุ 29 ได้รับฉายาว่า ชินธมฺโม
         5. S. Djumadi เกิดวันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 1947 ได้รับฉายาว่า สจฺจมโน 
         พิธีอุปสมบทเริ่มเวลาประมาณบ่าย 3 โมง พระสงฆ์ในพิธีอุปสมบทมีดังต่อไปนี้ พระสาสนโสภณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระธรรมโสภณ วัดบวรนิเวศวิหาร และพระครูปลัดอรรถจริยานุกิจ หัวหน้าพระธรรมทูตไทย เป็นคู่สวด พระครูปลัดสัมพิพัฒนวิริยาจารย์ วัดพระศรีมหาธาตุ พระขันติปาโล (ชาวอังกฤษ) พระสุภาโต (ชาวอินโดนีเซีย) ซึ่งทั้งสองอุปสมบทที่วัดบวรนิเวศวิหาร ส่วนพระภิกษุสามเณรอื่น ๆ นั่งทางซ้าย มี พระชินรักขิต หัวหน้าชาวพุทธอินโดนีเซีย พระมหาประแทน เขมทสฺสี วัดยานวา พระมหาสุชีพ วัดระฆัง พระคิรีรักขิต ชาวบาหลี อุปสมบทจากวัดเบญจมบพิตร และพระSoeyono Jinarata บวชที่สิงคโปร์ โดยมีเจ้าภาพบวชคือ มหาอุบาสก สารีปุตร สโดโน 
         พิธีอุปสมบทเสร็จเวลา 17.17 น. ขณะนั้นได้มีฝนตกลงมาเล็กน้อย พระสงฆ์และฆราวาสทำประทักษิณเวียนเทียนรอบเจดีย์แล้วเป็นอันเสร็จพิธี (หน้า 35)


         พระภิกษุที่ได้รับการอุปสมบทในครั้งนั้นปัจจุบันยังอยู่ในสมณเพศคือ “ชินธัมโม” อายุ หกสิบเจ็ดปีพรรษา 40  ส่วนอีกสี่รูปบางรูปลาสิกขา บางรูปก็มรณภาพแล้ว พระชินธัมโมจึงเป็นพระที่มีอายุพรรษามากที่สุดในอินโดนีเซีย
         ปัจจุบันคณะสงฆ์อินโดนีเซียมีพระอุปัชฌาย์ให้การอุปสมกุลบุตรได้เองดังที่ปรากฏในหนังสือพระธรรมทูตสี่สมัย ได้บันทึกไว้ว่า “ปีพุทธศักราช 2530 พระธรรมทูตได้เสนอพระเหียนกิม  สุเขโม ชาวอินโดนีเซีย ผู้ที่ได้มาบวชและศึกษาอยู่ในประเทศไทยผู้มีอายุพรรษาและคุณสมบัติที่จะเป็นพระอุปัชฌาย์ได้ คณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์รูปแรกของคณะสงฆ์เถรวาทอินโดนีเซีย”พระราชวราจารย์(วิญญ์ วิชาโน),พระธรรมทูตสี่สมัย,กรุงเทพฯ:สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ,หน้า 63)
         เมื่อมีพระอุปัชฌาย์ก็มีการอุปสมบทกุลบุตรชาวอินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันมีเป็นจำนวนมาก คณะสงฆ์เถรวาทแห่งอินโดนีเซียได้จัดการบริหารองค์กรด้วยตนเอง พระเหียนกิม สุเขโมเรียนจบจากคณะศาสนาปรัชญา สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย  รุ่นที่ 33 พุทธศักราช  2530 รุ่นเดียวกับพระเมธีธรรมสาร ผู้อำนวยการมหาปชาบดีวิทยาลัย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธวัช หอมทวนลม อาจารย์ประจำคณะศาสนาปรัชญา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยสมัยที่ 21,ศาสนศาสตร์บัณฑิต รุ่นที่ 33,ศักดิโสภาการพิมพ์,2530)

โครงสร้างการบริหารของคณะสงฆ์เถรวาทในอินโดนีเซีย

         วันที่ 2 พฤษภาคม 2553 คณะสงฆ์ไทยมีสมเด็จพระวันรัตเป็นประธาน ได้ร่วมประชุมกับคณะสงฆ์เถรวาทแห่งอินโดนีเซีย ทำให้ได้ทราบข้อมูลล่าสุดว่า “คณะสงฆ์เถรวาทในอินโดนีเซียปัจจุบันที่สำคัญมีสองกลุ่มคือคณะสงฆ์อินโดนีเซียและคณะสงฆ์ไทย 
        คณะผู้บริหารคณะสงฆ์ในปัจจุบันมีพระปัญญาวราภรณ์(ศรี ปัญญาวโรมหาเถระ)ดำรงตำแหน่งสังฆปาโมกข์  พระศรี สุพลรตโนมหาเถระเป็นอุปสังฆปาโมกข์  พระสุเขโมมาหเถระเป็นอธิกรณนายก พระธัมมสุโภเถระเป็นประธานคณะสงฆ์ผู้อาวุโส(เถรนายก) พระโชติธัมโม เป็นสังฆนายก การกสังฆสภา นอกจากนั้นยังมีอีกหลายตำแหน่งเช่นด้านการศึกษา สังคมวัฒนธรรม ธุรการสมาคม เลขานุการ ภัตตุเทสสังฆทาน ผู้ที่ไม่คุ้นเคยฟังแล้วอาจมึนงง แต่การบริหารของคณะสงฆ์เถรวาทแห่งอินโดนีเซียมีการจัดตั้งองค์กรยังเมืองต่างๆมีพระเถระทำหน้าที่คล้ายๆเจ้าคณะจังหวัดในประเทศไทย ปัจจุบันในอินโดนีเซียมีเจ้าคณะจังหวัดถึง 23 จังหวัดเช่นพระสิริรตโนเป็นเจ้าคณะจังหวัดสูลเวสีใต้เป็นต้น

         คณะสงฆ์อีกกลุ่มหนึ่งคือพระธรรมทูตจากประเทศไทยก้มีการจัดตั้งองค์กรคล้ายกัน ปัจจุบันมีพระครูประกาศธรรมนิเทศ (วงศ์สิน ลาภิโก)เจ้าอาวาสวัดวิปัสสนาคราหะ บันดุง เป็นประธานกรรมการบริหารคณะพระธรรมทูตไทยในอินโดนีเซีย  พระมหาวิรัตน์ เขมจารี สำนักสงฆ์พุทธบารมี ปังกัลปีนัง เป็นเลขานุการฯ 
         พระครูประกาศธรรมนิเทศเล่าให้ที่ประชุมฟังถึงกิจกรมของคณะพระธรรมทูตไทยตอนหนึ่งสรุปว่า “พระธรรมทูตไทยในอินโดนีเซียมีผลสืบเนื่องมาจากการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตสี่รูปที่เดินทางมายังอินโดนีเซียครั้งแรก ที่อยู่นานที่สุดคือพระราชวราจารย์หรือที่ชาวอินโดนีเซียมักเรียกติดปากว่า “ภันเตวิญญ์” ท่านได้สร้างวัด ที่พักสงฆ์ สำนักสงฆ์ไว้มากมายหลายแห่ง ในแต่ละปีจะมีพระธรรมทูตจากประเทศไทยไปจำพรรษาในสำนักเหล่านั้น ปัจจุบันพระธรรมทูตไทยในอินโดนีเซียมีอยู่ประมาณ 23 รูป แต่ละรูปต่างก็ทำหน้าที่เผยแผ่พุทธศาสนาตามจังหวัดต่างๆ ในส่วนของคณะสงฆ์ไทย นอกจากจะมีการเทศน์และการแสดงธรรมเป็นประจำแล้ว ยังมีโรงเรียนธรรมวิทยาเป็นโรงเรียนสายสามัญเปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงปริญญาตรี เป็นกิจกรรมของชาวพุทธซึ่งจัดตั้งขึ้นบริหารงานโดยสมาคมชาวพุทธ ตั้งอยู่ห่างจากสนามบินซูการ์โน-ฮัตตาประมาณ 4 กิโลเมตรหรือห่างจากกรุงจากาต้าร์ 30 กิโลเมตร ปัจจุบันมีนักเรียน1200 คน นักเรียนนับถือพระพุทธศาสนา 1220 คน พระธรรมทูตไทยมีเป้าหมายที่จะปลูกฝังศีลธรรมแก่นักเรียนที่เป็นชาวพุทธเหล่านี้ ในอนาคตอาจจะมีการสอบธรรมศึกษาขึ้นที่โรงเรียนแห่งนี้”  

         ปัจจุบันโรงเรียนธรรมวิทยา มีพระครูประกาศธรรมนิเทศ เป็นประธานกรรมการบริหารโรงเรียน นักเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ เมื่อพระสงฆ์ไทยไปเยือนต่างก็ให้การต้อนรับด้วยมรรยาทชาวพุทธเช่นยกมือไหว้กล่าวคำทักทายว่า “สาธุ ภันเต” แต่ถ้าตั้งใจฟังให้ดีก็จะฟังเป็น “สาตุ ภันเต” เนื่องจากภาษาอินโดนีเซียไม่มีตัว ท  และ ธ ใช้เสียง ต แทน
         นอกจากคณะสงฆ์สองกลุ่มที่มีการจัดตั้งองค์กรในการบริหารที่ชัดเจนแล้วยังมีพระสงฆ์อีกหลายกลุ่มเช่นพระชินนธัมโม ที่ได้รับการอุปสมบทครั้งแรกที่บรมพุทโธ ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับพระเถระรูปนี้ ทราบเพียงว่ายังมีชีวิตอยู่
         พระภิกษุชาวอินโดเซียอีกกลุ่มหนึ่งที่อุปสมบทจากประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี อยู่ร่วมสังกัดทั้งสองคณะคือทั้งอินโดนีเซียและไทย พระอุลลี อุคคธมโม ได้เมตตาเล่าให้ฟังว่า “ผมเกิดที่จากาต้าร์ พื้นฐานดั้งเดิมผมเป็นคริสต์ อยู่มาวันหนึ่งได้อ่านหนังสือหลวงพ่อชา เกิดความสนใจขึ้นมา เพราะหนังสืออย่างนี้เกิดมาไม่เคยอ่าน จากนั้นมาจึงเริ่มศึกษาพระพุทธศาสนาจากหนังสือต่างๆเช่นประวัติหลวงปู่มั่น หลวงปู่เทสก์ หลวงตามหาบัว จนมีความเข้าใจพระพุทธศาสนาในระดับหนึ่ง เมื่อเรียนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีแล้วจึงเดินทางมาประเทศไทย เดินทางไปหลายจังหวัดได้พบกับพระภิกษุชาวอินโดนีเซียอีกหลายท่าน ในที่สุดก็อุปสมบทที่จังหวัดบุรีรัมย์ ผมมองว่าพระพุทธศาสนาในอินโดนีเซียกำลังเจริญ เพราะยังมีชาวพุทธอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องการศึกษาค้นคว้าพระพุทธศาสนา พระสงฆ์ที่นี่ทำงานหนักมาก”

         สอดคล้องกับพระคำใส สุมโน พระธรรมทูตไทยที่อยู่ประจำในอินโดนีเซียมานานมากกว่าสิบปีแล้ว จนสามารถแสดงธรรมเป็นภาษาอินโดนีเซียได้ ท่านเล่าว่า “ต้องเดินทางไปแสดงธรรมทุกวัน บางวันสามสี่งานก็มี ทั้งในหมู่บ้าน โรงเรียน มหาวิทยาลัย ต่างก็ต้องการศึกษาเรียนรู้พระพุทธศาสนา แต่บุคคลากรที่ที่เผยแผ่มีน้อย แม้ว่าพระสงฆ์ไทยที่อยู่ที่นี่เกินกว่าหนึ่งปีจะพูดสื่อสารด้วยภาษาพื้นเมืองได้ แต่การแสดงธรรมต้องใช้ความชำนาญพิเศษ เพราะที่ประเทศนี้ต้องอธิบายธรรมเป็นภาษาอินโดนีเซียเท่านั้น บางครั้งมีความจำเป็นเมื่อชาวบ้านเดือดร้อนมาหานิมนต์ให้ไปไล่ผีก็ต้องทำ ที่นี่ผีเข้าสิงคนบ่อยมาก บางครั้งเข้าสิงพร้อมๆกันเป็นกลุ่มสิบยี่สิบคนก็มี บางครั้งต้องใช้เวลาเดินทางเป็นวันเพื่อไปแสดงธรรม”
         นอกจากคณะสงฆ์เถรวาทแล้วอินดีเซียยังมีพระสงฆ์มหายานอีกจำนวนหนึ่ง เผยแผ่พระพุทธศาสนาในเมืองต่างๆ แต่เมื่อมีกิจกรรมก็จะมาร่วมงานกันได้ 
         ส่วนหนึ่งที่ไม่เป็นพระสงฆ์แต่ดำเนินกิจการทางศาสนาโดยการจัดตั้งเป็นสมาคม มูลนิธิซึ่งมีอยู่เป้นจำนวนมากเช่นพุทธสมาคมบัณฑิตแห่งอินโดนีเซีย พุทธสมาคมบัณฑิตเถรวาทแห่งอินโดนีเซีย พุทธสมาคมบัณฑิตมหายาน สมาคมตรีธรรมะอินโดนีเซีย พุทธสมาคมไมตรียะแห่งอินโดนีเซีย เป็นต้น

ปัญจศีลาหลักการสำคัญของชาติ

         ชาวอินโดนีเซียมีอิสระในการนับถือศาสนาไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือฮินดู พุทธหรือคริสต์ขอเพียงให้มีความยึดมั่นในหลักปัยจศีลาซึ่งมีเป้าหมายเพื่อความกลมเกลียวของชาติเท่านั้น(อินโดนีเซีย หน้า 69)
  คำว่า “ปัญจศีลา” หลายคนคงคิดถึง “เบญจศีลหรือศีลห้าในพระพุทธศาสนา” แต่ปัญจศีลาของประเทศอินโดนีเซียมีความหมายพิเศษ ดังที่เอลซา ไซนุดิน อธิบายความความเป็นมาและความหมายของปัญจศีลาไว้ว่า “วันที่ 17สิงหาคม ค.ศ. 1945 เวลา 10 นาฬิกา ซูการ์โนได้อ่านประกาศอิสรภาพสั้นๆว่า “เราประชาชนอินโดนีเซีย ขอประกาศเอกราชของประเทศอินโดนีเซีย ณ บัดนี้ เรื่องเกี่ยวกับการโอนอำนาจและเรื่องอื่นๆจะจัดการไปเป็นลำดับและให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้” ในนามของประชาชนอินโดนีเซีย ซูการ์โนและฮัตตา(ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย,หน้า  329)
         ประธานาธิบดีซูการ์โนเคยกล่าวสุนทรพจน์ที่สำคัญครั้ังหนึ่งว่า“อย่าคิดฝันว่าการคงอยู่ของประเทศอินโดนีเซียเสรีจะทำให้การต่อสู้ของเราจบสิ้นลง มิใช่เช่นนั้น ข้าพเจ้ากล่าวแม้แต่ว่า ภายในประเทศอินโดนีเซียเสรีนั้น การต่อสู้ของเรายังคงต้องดำเนินต่อไป เพียงแต่จะมีลักษณะภาวะแปลกไปกว่าการต่อสู้ในปัจจุบัน ลักษณะพิเศษของการต่อสู้จะผิดไปในฐานะที่เราเป็นประชาชนที่รวมกัน เราจะดำเนินการต่อสู้ของเราเพื่อให้บรรลุถึงความคิดของเราที่มีอยู่ในปัญจสีลา” ซูการ์โน “กำเนิดของปัญจสีลา” วันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1945 (สุนทรพจน์ที่กล่าวแก่องค์ตการตรวจสอบเพื่อการตระเตรียมเอกราช) (ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย,หน้า 353)

        ประธานาธิบดีซูการ์โนเคยกล่าวถึงการรวบรวมกฎบัญญัติห้าข้อนี้ของเขาว่า “ข้าพเจ้าไม่รู้สึกว่าข้าพเจ้าเป็นผู้สร้างปัญจสีลา ไม่รู้สึกว่าเป็นผู้ก่อตั้งปัญจสีลา ข้าพเจ้าเพียงแต่นำความรู้สึกที่มีอยู่ในหมู่ประชาชนมาเขียนเป็นถ้อยคำซึ่งข้าพเจ้าเรียกว่า “ปัญจสีลา” ข้าพเจ้าเพียงแต่รวบรวมกันเข้าเพราะความรู้สึกทั้งห้านี้ได้มีอยู่มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว แม้แต่อาจเป็นถึงหลายร้อยปีในส่วนลึกของหัวใจของเรา” (ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย,หน้า 357)
         หนังสืออินโดนีเซียได้อธิบายหลักปัญจศีลาไว้ว่า  “ปัญจศีลา หลักห้าประการของปรัชญาแห่งรัฐอินโดนีเซีย ชาวอินโดนีเซียมีอิสระในการนับถือศาสนาไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือฮินดืพุทธหรือคริสต์ ขอเพียงให้ยึดมั่นในหลักปัญจสีลาซึ่งมีเป้าหมายเพื่อความกลมเกลียวของชาติเท่านั้น แม้อินโดนีเซียจะมีคนมุสลิมมกาที่สุดในโลกหรือร้อยละ 90 ของประเทศ แต่ก็ไม่เคยประกาศเป็นรัฐอิสลาม ส่วนที่เหลือเป็นคริสเตียนนิกายโปเตสแตนต์ หรือพุทธ ชาวคริสต์ในอินโดนีเซียแม้จะมีปริมาณน้อยแต่ก็มีบทบาทในวงการทหารและการเมือง ทำนองเดียวกับพุทธซึ่งมีบทบาทในภาคเศรษฐกิจ(มัลลิกา  พงศ์ปริตร,ศิริพร โตกทองคำ, อินโดนีเซีย,สำนักพิมพ์หน้าต่างสู่โลกกว้าง,2549หน้า,59)
         หลักการข้อแรกคือหลักของลัทธิชาตินิยมรัฐแห่งชาติอินโดนีเซียที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ ซูการ์โนได้ย้อนกลับไปที่อาณาจักรโบราณคืออาณาจักรมัชปาหิตและอาณาจักรศรีวิชัย โดยอ้างว่า “หากประชาชนของเราทั้งหมดคือประชาชนอินโดนีเซียพร้อมที่จะตายเพื่อป้องกันประเทศของเราคือประเทศอินโดนีเซีย แม้เพียงแต่ใช้หลาวไม้ไผ่ ในเวลานั้นประชาชนอินโดนีเซียก็พร้อมที่จะเป็นเอกราช” ลัทธิชาตินิยมนี้จะต้องไม่พัฒนาให้เป็น ความบ้ารักชาติ (ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย 357)

         หลักการข้อที่ 2 ลัทธิชาตินิยมนานาชาติหรือหลักของมนุษยธรรม  ระบอบการระหว่างประเทศมิอาจรุ่งเรืองขึ้นได้  หากมิได้เกิดขึ้นในแผ่นดินนานาชาติ ลัทธิชาตินิยมมิอาจเติบโตขึ้นได้ หากมิได้โตขึ้นในสวนดอกไม้ของระบอบการระหว่างประเทศ
         หลักการข้อที่ 3 ความเห็นพ้องต้องกันหมด การแสดงออกแทนกัน การตรึกตรองในหมู่ผู้แทนหรืออำนาจของประชาชนและโต้แย้งว่าองค์การผู้แทนของประชาชนกลุ่มอิสลามควรแสดงออกซึ่งข้อเรียกร้องของศาสนาอิสลาม เขานำหลักข้อที่สามนี้ไปเชื่อมกับหลักข้อที่สี่คือ
         หลักการข้อที่ 4 ความยุติธรรมในสังคม โดยอ้างว่าลัทธิการเมืองที่เท่าเทียมกันจะไร้ค่า หากปราศจากความเท่าเทียมกันในด้านเศรษฐกิจด้วย ความเป็นอยู่ของสังคมจะต้องควบคู่กันไปกับความยุติธรรมทางการเมือง
         หลักการข้อที่ 5 ให้สร้างอินโดนีเซีย เมอร์เดกา ด้วยความกลัวพระเจ้าแต่องค์เดียวคือพระเจ้าสูงสุดเชื่อในพระเจ้าด้วยความเคารพซึ่งกันและกันร่วมกัน”สภาวะที่ทุกคนสามารถนับถือพระเจ้าของพวกเขาดังเช่นเขาต้องการให้ปราศจากความเห้นแก่ตัวในเรื่องศาสนา เมื่อต่อมากลุ่มชนที่นับถือศาสนาอิสลามอ้างว่าซูการ์โนมิได้เข้าถึงจิตใจและเอกลักษณ์ของชาติอินโดนีเซียได้ซาบซึ้งพอ เพราะถ้าเขาได้กระทำดังนั้นแล้ว เขาจะพบศาสนาอิสลามแทนที่จะเป็นปัญจสีลา เขาอ้างว่าแม้ว่าตัวเขาเป็นมุสลิม “การแสวงหาของข้าพเจ้ากลับไปสู่สมัยก่อนศาสนาอิสลามมีอยู่ ข้าพเจ้าค้นหาไปถึงสมัยฮินดูและก่อนฮินดู”

         หลักการทั้งห้าข้อ(ปัญจสีลา) นั้นเป็นที่ยอมรับกันในหมู่ชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่ว่าเป็นพื้นฐานของรัฐและรวมเข้าด้วยกันเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องหมายแห่งชาติ สิ่งนี้เป็นเรื่องสมัยใหม่ของนิยายพญาครุฑที่เกี่ยวข้องกับนกอินทรีและนกฟินิกซ์ (นกในนิยายโบราณ เชื่อว่าเมื่อนกนี้มีอายุได้ห้าหรือหกร้อยปีก็เผาตัวเองและเป็นหนุ่มใหม่) ม้าของโอรสพระกฤษณะในเรื่องหนังตะลุงที่สามารถกล่าวสุนทรพจน์แบบมนุษย์ได้ ตราการูดาในตราตระกูลอินโดนีเซียสมัยใหม่มีปีกข้างละ 17 แฉก และมีหางแผ่เป็น 8 แฉก เป็นสัญลักษณ์ของวันประกาศเอกราชของอินโดนีเซีย” (ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย 358)

         คำขวัญของประเทศอินโดนีเซียคือ “เอกภาพบนความแตกต่าง” โดยมีหลักปัญจศีลเป็นแนวทางในการอยู่ร่วม พระพุทธศาสนาเถรวาทจะดำรงอยู่ในในสังคมที่มีความแตกต่างนี้ได้หรือไม่ นั่นเป็นเรื่องของอนาคต
         นับจากนี้ไปชาวโลกต้องคอยจับตาดูว่าพระสงฆ์ในอินโดนีเซียจะสามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้มีความมั่นคงในอินโดนีเซียได้หรือไม่ สิ่งที่เคยสูญหายไปหลายร้อยปีกำลังจะได้รับการฟื้นฟูให้คืนกลับขึ้นมาอีกครั้ง ชาวพุทธจากทั่วโลกเดินทางไปนมัสการมหาเจดีย์บูโรบูดูร์หรือบรมพุทโธต่างก็ตกตะลึงในความมหัศจรรย์ของเจดีย์แห่งนี้ แต่แม้จะสร้างโบราณสถานมีขนาดใหญ่โตมโหฬารขนาดไหนก็ตาม หากชาวพุทธไม่สร้างศาสนทายาทไว้ก็ยากที่จะรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
16/05/53

อ้างอิง

ศิริพร โตกทองคำ,อินโดนีเซีย,กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์สู่โลกกว้าง,2549.
ศุภลักษณ์ สนธิชัย,อินโดนีเซีย,กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์อทิตตา,2549.
เอลซา ไชนุดิน(เพ็ชรี  สุมิตร แปล),ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย,กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย,2552.
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อครั้งที่ทรงสมณศักดิ์ที่ พระศาสนโศภณ,พระศาสนกิจในต่างประเทศ” พิมพ์เผยแพร่ใน “อนุสรณ์การบำเพ็ญกุศลอัฏฐิถวายพระราชวราจารย์ (วิญญ์  วิชาโน) อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศซิหาร และ หัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายประเทศอินโดนีเซีย (27-28 กันยายน 2549) 
สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยสมัยที่ 21,ศาสนศาสตร์บัณฑิต รุ่นที่ 33,ศักดิโสภาการพิมพ์,2530. 

 

 

ที่มา: cybervanaram.net

http://www.cybervanaram.net/index.php?option=com_content&view=article&id=131%3A2010-05-15-13-51-46&catid=4%3A2009-12-17-14-42-44&Itemid=20&showall=1

Copyright © ๒๕๕๙ สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) กรุงเทพมหานคร